การวิจัยในสาขาเวชศาสตร์อวกาศชี้ว่า สภาพแวดล้อมที่มีแรงโน้มถ่วงต่ำและปัจจัยอื่นๆสามารถส่งผลต่อร่างกายมนุษย์ในภารกิจอวกาศ เมื่อเร็วๆมีการวิจัยใหม่ชี้ว่า นักบินอวกาศมีแนวโน้มประสบกับอาการปวดศีรษะในอวกาศมากกว่าที่เคยรู้กันมา หลังจากวิจัยนักบินอวกาศ 24 คน จากองค์การนาซาของสหรัฐอเมริกา องค์การอวกาศยุโรป และองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น ที่ไปปฏิบัติงานบนสถานีอวกาศนานาชาติ นานถึง 26 สัปดาห์
การวิจัยจากนักประสาทวิทยาแห่งศูนย์การแพทย์ซานส์และมหาวิทยาลัยไลเดิน ในเนเธอร์แลนด์ ระบุว่านักบินอวกาศชาย 23 คนและผู้หญิง 1 คน อายุเฉลี่ยราว 47 ปี อยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติเพื่อทำภารกิจตั้งแต่เดือน พ.ย.2554 ถึง มิ.ย.2561 มีอาการปวดศีรษะทั้งหมด 378 ครั้ง ซึ่งรายงานโดยนักบินอวกาศ 22 คนจากทั้งหมด 24 คนในระหว่างอยู่ในวงโคจร รวม 3,596 วัน พบว่าอาการปวดศีรษะที่เกิดขึ้นในช่วงแรกๆคล้ายกับไมเกรน ขณะที่อาการปวดศีรษะที่เกิดขึ้นในภายหลังจากการเดินทางในอวกาศจะคล้ายอาการปวดศีรษะจากความตึงเครียด
นักวิจัยอธิบายว่า ในช่วงสัปดาห์แรกร่างกายของนักบินอวกาศต้องปรับตัวเข้ากับภาวะไร้แรงโน้มถ่วง มีอาการคล้ายเมารถ อาจคลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ และปวดศีรษะได้ ส่วนอาการปวดหัวในภายหลังอาจเป็นผลมาจากความดันในกะโหลกศีรษะเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาวะไร้น้ำหนักทำให้มีของเหลวสะสมอยู่ในส่วนบนของร่างกายและศีรษะมากขึ้น ส่งผลให้ความดันในกะโหลกศีรษะสูงขึ้น ทั้งนี้ นักบินอวกาศ 13 คนมาจากองค์การนาซา 6 คนมาจากองค์การอวกาศยุโรป อีก 2 คนมาจากองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น และ 1 คนมาจากองค์การอวกาศแคนาดา ไม่เคยมีใครได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นไมเกรนก่อนทำภารกิจอวกาศ และไม่มีประวัติปวดศีรษะซ้ำอีก.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่
...