รายงานประจำปี 2567 ของสหประชาชาติด้านความสุขโลก ระบุว่าฟินแลนด์ครองแชมป์ประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกเป็นปีที่ 7 ติดต่อกัน
รายงานความสุขโลกประจำปีที่ได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติ ซึ่งเผยแพร่ในวันนี้ (20 มี.ค.) ระบุว่าฟินแลนด์ยังคงเป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกเป็นปีที่ 7 ติดต่อกัน
ขณะที่หลายประเทศในเขตนอร์ดิกยังติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่มีความสุขที่สุด โดยเดนมาร์ก ไอซ์แลนด์ และสวีเดน ตามหลังฟินแลนด์ ด้านอัฟกานิสถานซึ่งประสบภัยพิบัติด้านมนุษยธรรมนับตั้งแต่กลุ่มตาลีบันปกครองครองประเทศในปี 2563 อยู่ในอันดับสุดท้ายจาก 143 ประเทศที่ทำการสำรวจ
นับเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการเผยแพร่รายงานดังกล่าวเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว ที่สหรัฐฯ และเยอรมนีไม่ได้อยู่ใน 20 อันดับแรกของประเทศที่มีความสุขที่สุด โดยตกลงมาอยู่ในอันดับที่ 23 และ 24 ตามลำดับ แต่ในทางกลับกัน คอสตาริกาและคูเวต กลับติดอยู่ใน 20 อันดับแรก ที่อันดับ 12 และ 13
รายงานยังระบุว่าประเทศที่มีความสุขที่สุด อาจไม่นับรวมประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกต่อไป โดยใน 10 อันดับแรก มีเพียงเนเธอร์แลนด์และออสเตรเลียเท่านั้นที่มีประชากรมากกว่า 15 ล้านคน และใน 20 อันดับแรก มีเพียงแคนาดา และสหราชอาณาจักรเท่านั้นที่มีประชากรมากกว่า 30 ล้านคน
ส่วนประเทศที่ความสุขที่ลดลงอย่างรวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 2549-2553 คืออัฟกานิสถาน เลบานอน และจอร์แดน ในขณะที่ประเทศในยุโรปตะวันออก เช่น เซอร์เบีย บัลแกเรีย และลัตเวีย พบว่าความสุขเพิ่มขึ้นมากที่สุด
การจัดอันดับความสุขขึ้นอยู่กับการประเมินความพึงพอใจในชีวิตของแต่ละบุคคล รวมถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพีต่อประชากร การสนับสนุนทางสังคม อายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาพดี เสรีภาพ ความเอื้ออาทร และการทุจริต
...
เจนนิเฟอร์ เดอ เปาลา นักวิจัยด้านความสุขจากมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ กล่าวว่า ความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับธรรมชาติและความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานที่ดีต่อสุขภาพคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้พวกเขาพึงพอใจในชีวิต
นอกจากนี้ ชาวฟินแลนด์อาจมี "ความเข้าใจอย่างถ่องแท้มากขึ้นว่าชีวิตที่ประสบความสำเร็จคืออะไร" เมื่อเปรียบเทียบกับประชากรกลุ่มตัวอย่างในสหรัฐฯ ซึ่งความสำเร็จมักมาพร้อมกับผลประโยชน์ทางการเงิน ขณะที่สังคมสวัสดิการที่เข้มแข็งของชาวฟินแลนด์ ความไว้วางใจในหน่วยงานของรัฐ การคอร์รัปชันในระดับต่ำ ตลอดจนการดูแลสุขภาพและการศึกษาที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย ก็เป็นปัจจัยสำคัญเช่นกัน
เดอ เปาลากล่าวว่า "สังคมฟินแลนด์เต็มไปด้วยความรู้สึกไว้วางใจ เสรีภาพ และความเป็นอิสระในระดับสูง"
รายงานประจำปีนี้ยังพบว่าคนรุ่นใหม่มีความสุขมากกว่าคนรุ่นก่อนในภูมิภาคส่วนใหญ่ของโลก แต่ไม่ใช่ทั้งหมด โดยในอเมริกาเหนือ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ความสุขในกลุ่มคนที่อายุต่ำกว่า 30 ปี ลดลงอย่างมากตั้งแต่ปี 2549-2553 โดยที่คนรุ่นเก่ามีความสุขมากกว่าคนหนุ่มสาว
ในทางตรงกันข้าม ในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก ความสุขเพิ่มขึ้นอย่างมากในทุกช่วงอายุในช่วงเวลาเดียวกัน ในขณะที่ในยุโรปตะวันตก พบว่าผู้คนทุกวัยมีความสุขในระดับเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม พบว่าความไม่เท่าเทียมกันของความสุขเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาค ยกเว้นยุโรป ซึ่งผู้เขียนรายงานอธิบายว่าเป็น "แนวโน้มที่น่ากังวล" การเพิ่มขึ้นนี้เห็นได้ชัดเจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้สูงอายุและในแถบตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราในแอฟริกา ซึ่งสะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมกันในด้านรายได้ การศึกษา การดูแลสุขภาพ การยอมรับทางสังคม ความไว้วางใจ และการมีอยู่ของสภาพแวดล้อมทางสังคมที่สนับสนุนในระดับครอบครัว ชุมชน และระดับชาติ.
ที่มา AFP
ติดตามข่าวต่างประเทศเพิ่มเติมที่ https://www.thairath.co.th/news/foreign