ในปี พ.ศ.2526 มีการขุดพบซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลชิ้นส่วนของกรามและฟันสัตว์ชนิดหนึ่งในแคว้นลา ริโอฮา ในสเปน ต่อมาในปี 2548 ก็พบฟอสซิลโครงกระดูกบางส่วน ทีมนักบรรพชีวินวิทยาระบุเป็นของไดโนเสาร์บาริโอนิกซ์ (Baryonyx) ที่อยู่ในวงศ์สไปโนซอริดส์ (Spinosaurids) เป็นกลุ่มไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดกลางถึงใหญ่หรือเธอโรพอด (Theropods) มีลักษณะเฉพาะคือกะโหลกศีรษะต่ำและยาว มือมี 3 นิ้วมีกรงเล็บ กรามเต็มไปด้วยฟันทรงกรวย คล้ายกับฟันจระเข้ยุคปัจจุบัน
ล่าสุด เอริค อิซาสเมนดี นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบาสก์คันทรี ในสเปน เผยงานวิจัยใหม่ว่าซากฟอสซิลดังกล่าวเป็นสายพันธุ์ใหม่ตั้งชื่อว่า Riojavenatrix lacustris อาจยาว 7-8 เมตร หนัก 1,500 กิโลกรัม เดินด้วย 2 เท้า เป็นพวกกินเนื้อ มีชีวิตอยู่เมื่อ 120 ล้านปีก่อน และเผยว่า บนคาบสมุทรไอบีเรีย สไปโนซอร์ถือเป็นไดโนเสาร์กินเนื้อยุคครีเตชียสตอนล่าง พบได้บ่อยที่สุดทั้งในหินที่ก่อตัวในสภาพแวดล้อมที่มีทะเลสาบ เป็นเรื่องปกติที่จะพบฟอสซิลฟันในแอ่งต่างๆ เช่นใน บูร์โกส, ลาริโอฮา, มาสตราซโก ในสเปน และลุ่มน้ำลูซีตานิอา ในโปรตุเกส และนอกจาก Riojavenatrix lacustris แล้ว ยังระบุถึงไดโนเสาร์ในสไปโนซอริดส์อื่นๆในยุคครีเตเชียสตอนล่างที่พบบนคาบสมุทรไอบีเรีย ได้แก่ Camarillasaurus, Vallibonavenatrix และ Protathlitis และ Iberospinus
ฟอสซิลของไดโนเสาร์เหล่านี้เป็นพยานว่าคาบสมุทรไอบีเรียเป็นที่อยู่อาศัยของไดโนเสาร์กินเนื้อจำนวนมากและหลากหลาย ทำให้เกิดคำถามใหม่ๆเกี่ยวกับระบบนิเวศของสัตว์เหล่านี้ว่า พวกมันอยู่ร่วมกันได้อย่างไร โดย Riojavenatrix lacustris ถือเป็นกุญแจสำคัญในการทำความเข้าใจต้นกำเนิดและวิวัฒนาการของเธอโรพอด.
Credit : University of the Basque Country
...