วัยหมดประจำเดือนเป็นลักษณะที่หาได้ยากในสัตว์หลายชนิดบนโลก มีอยู่เพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้น และมนุษย์ก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่มีลักษณะทางสัณฐานวิทยา พฤติกรรม พันธุกรรม ที่บ่งชี้การเกิดปรากฏการณ์นี้ในสายพันธุ์วาฬมีฟันเพศเมียบางชนิด เช่น วาฬเพชฌฆาต วาฬเบลูกา และนาร์วาฬที่เป็นวาฬขาวขนาดเล็ก
ล่าสุด มีงานวิจัยใหม่ของทีมวิจัยนำโดยผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมสัตว์จากมหาวิทยาลัยเอกซีเตอร์ ในอังกฤษ เผยได้เปรียบเทียบอายุขัยของวาฬมีฟัน 32 สายพันธุ์ พบว่า ใน 5 สายพันธุ์ที่เป็นเพศเมียและมีภาวะวัยหมดประจำเดือน ได้แก่ วาฬเพชฌฆาต วาฬเพชฌฆาตดำ วาฬเบลูกา นาร์วาล และวาฬนำร่องครีบสั้น จะมีอายุยืนยาวกว่าวาฬเพศเมียในสายพันธุ์เดียวกันที่ไม่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน โดยจะมีอายุยืนยาวกว่าที่คาดไว้ประมาณ 40 ปี สำหรับสายพันธุ์ที่มีขนาดเท่าๆกัน การค้นพบนี้สนับสนุนสมมติฐานการอายุยืนของวาฬ นอกจากนี้ นักวิจัยระบุว่า วาฬที่มีฟันชนิดอื่นๆ เช่น วาฬสเปิร์ม และวาฬบาลีนที่ใช้การ กรองกิน เช่น วาฬสีน้ำเงิน ยังไม่ได้ถูกค้นพบว่า มีการเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน
...
ทีมวิจัยเผยว่า การศึกษาวาฬเพชฌฆาตที่อาศัยอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกนอกชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา แสดงให้เห็นว่า วาฬตัวเมียหยุดแพร่พันธุ์เมื่ออายุประมาณ 40 ปี แต่จะมีชีวิตอยู่จนถึงอายุ 60 และหรือจนถึง 80 ปี โดยวาฬเพชฌฆาตเพศผู้มักตายก่อนอายุ 40 ปี การวิจัยครั้งใหม่นี้ชี้ให้เห็นว่า วาฬเพชฌฆาตยายช่วยเหลือวาฬลูกสาวและหลานด้วยการให้อาหาร ปกป้อง และดูแลการสื่อสารและสติปัญญา.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่