ปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจไทยอยู่ที่โครงสร้างไม่ใช่ดอกเบี้ย!! โตช้าโตต่ำจนจะถูกเวียดนามแซงหน้าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าก็เพราะปัญหาเชิงโครงสร้างล้วนๆ แตะไม่ได้แก้ไม่ได้ก็ได้แต่ทนๆกันไป อย่าหวังไกลถึงขั้นจะหลุดจากประเทศรายได้ปานกลาง...ตกปลาในบ่อน้ำที่แห้งขอด ต่อให้เก่งขนาดไหนก็ไม่มีทางได้ปลากิน

ในขณะที่คนไทยกำลังสิ้นหวัง!! ชาวโลกกลับตื่นตัวกันใหญ่ในเรื่อง “การสร้างเมืองอัจฉริยะ” (Smart Cities) โดยความอัจฉริยะวัดจากระดับสติปัญญาการเรียนรู้และการบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งด้านสุขภาพ, พลังงาน, อาคาร, การขนส่ง และธรรมาภิบาลในการปกครองประเทศ

สิ่งที่จะต้องตระเตรียมเพื่อสร้างชุมชนอัจฉริยะหรือเมืองอัจฉริยะประกอบไปด้วยระบบนิเวศอัจฉริยะที่หลากหลาย ตั้งแต่การมีพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy), อาคารอัจฉริยะ (Smart Building), การสัญจรอัจฉริยะ (Smart Mobility), โครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะ (Smart Infrastructure), สุขภาพอัจฉริยะ (Smart Healthcare) และที่ขาดไม่ได้คือ ประชาชนอัจฉริยะ (Smart Citizen) และรัฐบาลอัจฉริยะ (Smart Government)

ประมาณ 50% ของ “เมืองอัจฉริยะ” จะเกิดขึ้นในแถบอเมริกาเหนือ หรือยุโรป โดย “ฟรอส์ท แอนด์ ซัลลิวัน” คาดว่าจะมีเมืองอัจฉริยะ 26 เมือง เกิดขึ้นทั่วโลกภายในปี 2025 หมายถึงปีหน้านี่เอง

เขยิบเป้าออกไปอีกหน่อย ภายในปี 2050 คาดว่าประชากรในประเทศพัฒนาแล้วมากกว่า 80% จะอาศัยอยู่ในเขตเมือง ขณะที่ตัวเลขนี้ในประเทศกำลังพัฒนาจะเกินกว่า 60% หัวหอกระดับผู้นำโลกเชื่อว่า การสร้างเมืองอัจฉริยะจะช่วยรองรับการขยายตัวของเมืองให้เป็นไปโดยง่ายด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ช่วยเทศบาลต่างๆเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ทรัพยากร เพื่อให้เกิดมูลค่าสูงสุดแก่ประชากร ไม่ว่าจะเป็น คุณค่าทางการเงิน, การประหยัดเวลา หรือการยกระดับคุณภาพชีวิต

...

ผู้เชี่ยวชาญของ “ฟรอส์ท แอนด์ ซัลลิวัน” คาดการณ์ว่าเมืองอัจฉริยะที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลกจะสร้างโอกาสทางธุรกิจอย่างมหาศาลด้วยมูลค่าตลาดมากกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2025

ความคืบหน้าเห็นได้ชัดในทวีปอเมริกาเหนือที่กำลังเร่งพัฒนาเมืองรองระดับสอง (Tier II) อย่างรวดเร็ว เช่น เดนเวอร์และพอร์ตแลนด์ มุ่งเน้นการสร้างเมืองอัจฉริยะ โดยภาพรวมของตลาดอาคารอัจฉริยะในอเมริกาเหนือที่ประกอบด้วยมูลค่าทั้งหมดของเซ็นเซอร์อัจฉริยะ, ระบบ, ฮาร์ดแวร์, อุปกรณ์ควบคุม และซอฟต์แวร์ที่ขายไป มีมูลค่าถึง 5.74 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2020

ขณะที่ในทวีปยุโรปมีการลงทุนในโครงการสร้างเมืองอัจฉริยะจำนวนมากที่สุดในโลก เนื่องจากการผลักดันของคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) โดยปัจจุบันตลาดบริการรถยนต์ร่วมโดยสาร (e-hailing) ของยุโรป ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของเมืองต่างๆที่พัฒนาโซลูชันการคมนาคมอัจฉริยะ สร้างรายได้สูงถึง 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดการณ์ว่าจะเติบโตถึง 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2025

แม้แต่ในทวีปละตินอเมริกาก็มีหลายเมืองที่กำลังผลักดันการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอย่างแข็งขัน ไม่ว่าจะเป็นเม็กซิโกซิตี้, กวาดาลาฮารา, โบโกตา, ซานเตียโก, บัวโนสไอเรส และริโอ เด จาเนโร โดยในบราซิล โครงการเมืองอัจฉริยะสร้างมูลค่าเกือบ 20% ของรายได้ IoT ทั้งหมด 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2021

ภายในปี 2025 ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกจะถูกจับตามองในฐานะภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดในด้านพลังงานอัจฉริยะ โดยเมืองอัจฉริยะเกินกว่า 50% จะเกิดขึ้นในประเทศจีน และโครงการเมืองอัจฉริยะต่างๆจะสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจของจีนมากถึง 3.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2025

ไม่นับรวมญี่ปุ่น มูลค่าการลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนโครงการสร้างเมืองอัจฉริยะในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มีมูลค่าถึง 2.83 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2018 โดยเอเชีย-แปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่มีสัดส่วนการลงทุนในเทคโนโลยี IoT มากที่สุด ซึ่งคาดว่าประเทศเกาหลีใต้และสิงคโปร์จะเป็นตลาดที่มีการใช้งาน IoT คึกคักที่สุดเป็น 5 อันดับแรกของโลก

ชาวโลกเขาไปถึงไหนกันแล้ว ปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจไทยอยู่ที่โครงสร้างไม่ใช่ดอกเบี้ยจริงๆ!!

มิสแซฟไฟร์

คลิกอ่านคอลัมน์ "คนดังอะราวนด์เดอะเวิลด์" เพิ่มเติม