คนส่วนใหญ่มักพูดได้ภาษาเดียวหรือ 2 ภาษา ทว่าบางคนก็เชี่ยวชาญและพูดได้หลายภาษา บางคนสลับภาษาในระหว่างสนทนาได้คล่อง เช่น คุยกับยายเป็นภาษาอิตาเลียน แต่ก็โต้เถียงปรัชญากับเพื่อนร่วมชั้นเป็นภาษาฝรั่งเศสได้ง่ายดาย สิ่งนี้ทำให้เกิดความสงสัยถึงวิธีที่สมองจัดการกับภาษาอันเป็นวิธีหลักในการสื่อสารของมนุษย์
ล่าสุด ทีมวิจัยนำโดยนักประสาทวิทยาจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเสตต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา เผยงานวิจัยใหม่ที่จะให้ความกระจ่างถึงวิธีที่สมองจัดการกับภาษา หลังคัดเลือกอาสาสมัครที่พูดได้อย่างน้อย 5 ภาษามา 34 คน เป็นชาย 20 คน หญิง 14 คน มีอายุ 19-71 ปี โดย 21 คนพูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ ส่วนที่เหลือเป็นภาษาฝรั่งเศส รัสเซีย สเปน เนเธอร์แลนด์ เยอรมัน ฮังการี และจีนกลาง ทีมอธิบายว่า การพูดได้หลายภาษาจะสามารถเปรียบเทียบว่าสมองปรับเปลี่ยนการตอบสนองตามหน้าที่ของความเชี่ยวชาญได้ภายในคนคนเดียวอย่างไร นักวิจัยได้ใช้วิธี functional magnetic resonance imaging คือการตรวจเพื่อหาตำแหน่งการทำงานของสมอง โดยบันทึกความเปลี่ยนแปลงในสมองที่เกิดจากการทำงานของเซลล์ประสาท เพื่อติดตามการทำงานของสมองในขณะที่อาสาสมัครร่วมฟังข้อความใน 8 ภาษาที่แตกต่างกัน มีทั้งภาษาแม่ที่เป็นภาษาหลักที่พวกเขาใช้ และภาษาอื่นอีก 3 ภาษาที่พวกเขามีความเชี่ยวชาญสูง เชี่ยวชาญปานกลาง และเชี่ยวชาญน้อยที่สุด ส่วนอีก 4 ภาษาเป็นภาษาที่พวกเขาไม่รู้จักเลย
...
ทีมวิจัยพบว่าแม้ว่าเครือข่ายภาษาของสมอง ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่บางส่วนที่อยู่ในสมองส่วนหน้าและขมับ จะมีชีวิตชีวาขึ้นเมื่อประมวลผลภาษาใดก็ตาม แต่ภาษาแม่ของคนที่พูดได้หลายภาษาจะทำงานได้เข้มข้นน้อยลง สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าภาษาแม่หรือภาษาแรกของคนเราจะได้รับการเข้ารหัสหรือถูกเก็บในสมองเป็นพิเศษ นอกจากนี้ การเปิดรับภาษาที่ไม่รู้จักสามารถกระตุ้นพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการได้ยินและการมองเห็นได้.