นักวิทยาศาสตร์ในสิงคโปร์กำลังศึกษาเรื่องการใช้ ซุปเปอร์เวิร์ม หนอนที่สามารถย่อยพลาสติกได้ มาช่วยในการแก้ปัญหาขยะพลาสติก ซึ่งกำลังเป็นวิกฤติหนักในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์
สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี หนานหยาง (NTU) ของสิงคโปร์ กำลังคิดหาทางสร้างเครื่องในของหนอนกินพลาสติก ‘ซุปเปอร์เวิร์ม’ จำนวนมาก โดยหวังว่ามันอาจกลายเป็นวิธีทางธรรมชาติที่สามารถแก้ปัญหาขยะพลาสติกได้ และพวกเขากำลังศึกษาหาวิธีการให้หนอนเหล่านี้ใช้ย่อยพลาสติก
ทีมนักวิจัยรู้แล้วว่าเครื่องในของหนอนเหล่านี้สามารถทำให้พลาสติกแตกตัวในระดับโมเลกุล และมันสามารถถูกปรับเปลี่ยนให้สามารถย่อยพลาสติกได้มีประสิทธิภาพมากกขึ้นไปอีก และตอนนี้ทีมนักวิทยาศาสตร์กำลังวิจัยว่า จะสามารถนำกลไกตามธรรมชาตินี้มาใช้ประโยชน์ในระดับอุตสาหกรรมได้อย่างไร
ตามการเปิดเผยของ ศ.หลิว อี้หนาน จาก NTU พระเอกของการวิจัยนี้คือหนอนซึ่งเป็นตัวอ่อนของด้วงดำ หรือ ด้วงขี้ไก่ สามารถหาซื้อได้ทั่วไปในสิงคโปร์ “เราซื้อหนอนนี้มาจากร้านขายสัตว์เลี้ยงท้องถิ่น” “ซุปเปอร์เวิร์มนี้มีชื่อเสียงมาก เพราะมันสามารถกิน และแตกโมเลกุลของพลาสติกได้”
ผลการศึกษาก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่า เจ้าหนอนซุปเปอร์เวิร์ม ซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า ‘โซโฟบาส อสตราทัส’ (Zophobas atratus) มีแบคทีเรียในเครื่องในที่ทำให้พวกมันสามารถทำให้พลาสติกทั่วไปแตกตัวได้
แต่การนำหนอนเหล่านี้มากำจัดพลาสติกโดยตรง ไม่สามารถทำได้ในทางปฏิบัติ เนื่องจากการรักษาจำนวนประชากรหนอนจำนวนมากนั้นทำได้ยาก พวกมันมักจะใช้เวลาในการกินพลาสติก และเติบโตกลายเป็นด้วงดำ ซึ่งกินพลาสติกไม่ได้แล้ว อย่างรวดเร็ว
...
ด้วยเหตุนี้นักวิทยาศาสตร์ที่ศูนย์วิศวกรรมวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิตและสิ่งแวดล้อมของ NTU จึงพยายามหาทางตัดตัวหนอนออกจากกระบวนการนี้ และหาทางสร้างเครื่องในที่ย่อยพลาสติกได้ของหนอนเหล่านี้ขึ้นมาเอง
“เรานำสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กจากเครื่องในของพวกมันออกมา แล้วใส่เอาไว้ในขวดทดลองพร้อมกับพลาสติก เพื่อให้พวกมันเติบโตบนพลาสติกแล้วกินย่อยสลายมันในที่สุด” ศ.สัคชาม ไบโรลิยา จาก NTU กล่าว
ในบรรดาหนอนหลายร้อยตัวที่ถูกนำมาวิจัย ถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม โดยตลอดระยะเวลา 1 เดือน หนอนทดลอง 2 กลุ่มกินแต่พลาสติกจำพวก โพลีเอทิลีน, โพลีโพรพิลีน และ โพลิสไตรีน ซึ่งมักถูกใช้ในการผลิตถุงพลาสติก และสไตโรโฟม ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งได้รับข้าวโอ๊ตบดหยาบเป็นอาหาร
“การวิจัยของเราเป็นหนึ่งในการศึกษาไม่กี่แห่งในภูมิภาคนี้ ที่ตรวจสอบการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กในหนอนกับพลาสติก ในสภาพแวดล้อมทางทะเล โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือพัฒนากระบวนการทางชีวะชนิดใหม่ เพื่อให้เราสามารถจัดการกับขยะพลาสติกได้” ศ.เชา บิน ผู้ช่วยศาสตราจารย์จาก NTU ซึ่งเป็นผู้นำการวิจัยนี้กล่าว
อนึ่ง ขยะพลาสติกเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมอันดับต้นของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีปัญหามลภาวะจากพลาสติกในระบบนิเวศทางทะเล และน้ำจืด เกิดขึ้นทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
รายงานจาก ศูนย์เพื่อการพัฒนาภูมิภาคแห่งสหประชาชาติ ในปี 2563 ประเมินว่า จำนวนขณะพลาสติกที่เข้าสู่ทะเลจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้นอาจเพิ่มขึ้นจนมากถึง 2.3-6.4 ล้านตัน ภายในปี 2573
ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติสิงคโปร์มีการเปิดโซนจัดแสดงใหม่เรียกว่า ‘พลาสติก 101’ เพื่อเพิ่มความตระหนักรู้ให้ประชาชนลดการใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียว และพัฒนานิสัยการรีไซเคิลในชีวิตประจำวัน
อย่างไรก็ตาม ศ.บิน ระบุว่า ขยะพลาสติกมากกว่า 50% ทั่วโลกก็ยังคงถูกผลิตขึ้นที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และทางเดียวที่จะจูงใจบริษัทกับประเทศต่างๆ ให้ลงทุนในด้านการรีไซเคิลนั้นคือ ยกระดับพลาสติกให้กลายเป็นวัตถุดิบที่สามารถเปลี่ยนเป็นกำไรได้
และนั่นคือจุดที่ ซุปเปอร์เวิร์ม จะเข้ามา โดยการวิจัยขั้นต่อไปของทีมนักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ คือทำความเข้าใจให้มากขึ้นว่า สิ่งที่หลงเหลือหลังจากไบโอมเครื่องในของหนอนย่อยพลาสติกแล้วคืออะไร สามารถสร้างเม็ดเงินได้หรือไม่ และจะสามารถยกระดับกระบวนการทั้งหมดให้ใหญ่ขึ้นได้หรือเปล่า
“กระบวนการเหล่านั้นอาจเป็นชุดของปฏิกิริยาตอบสนองหลายๆ อย่าง เพื่อเปลี่ยนสภาพพลาสติกให้กลายเป็นโมโนเมอร์ หรือโมเลกุลขนาดเล็กมาก ที่สามารถถูกเปลี่ยนให้เป็นอะไรบางอย่างที่มีค่ามากขึ้นได้” ศ.บิน กล่าว
ด้าน ศ.คริส ริงเค จากมหาวิทยาลัยอินสบรูคในออสเตรีย เชื่อว่า ไม่มีอะไรที่เป็นกระสุนเงินในการแก้ปัญหาขณะพลาสติกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ซุปเปอร์เวิร์มสามารถเป็นหนึ่งในอาวุธทางธรรมชาติในการแก้ปัญหานี้
“การแก้วิกฤติขยะพลาสติก ข้อแรกคือ เราต้องใช้พลาสติกให้น้อยลง สอง เราต้องเปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนขึ้น เช่น ถ้วยกาแฟที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้หลายครั้ง และสาม เราต้องเพิ่มความพยายามในการรีไซเคิล เพื่อที่เราจะได้สามารถใช้งานซุปเปอร์เวิร์มนี้ นี่คือวิธีการตามธรรมชาติในการใช้ซุปเปอร์เวิร์ม, สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กในตัวมัน และเอนไซม์ของมัน ในการรีไซเคิลพลาสติก”.
ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign
ที่มา : ap
...