อินเดียเตรียมบังคับใช้กฎหมายความเป็นพลเมือง ซึ่งนักวิจารณ์กล่าวว่าเป็นการเลือกปฏิบัติต่อชาวมุสลิม เพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่อินเดียจะจัดการเลือกตั้งทั่วไป
รัฐบัญญัติแก้ไขกฎหมายสัญชาติ (CAA) จะอนุญาตให้ชนกลุ่มน้อยทางศาสนาที่ไม่ใช่ชาวมุสลิมจากปากีสถาน บังกลาเทศ และอัฟกานิสถานสามารถขอสัญชาติได้ เจ้าหน้าที่กล่าวว่ากฎหมายนี้จะให้ที่ลี้ภัยแก่ผู้ที่หลบหนีจากการถูกข่มเหงรังแกทางศาสนา แม้ว่ากฎหมายดังกล่าวผ่านความเห็นชอบในเดือนธันวาคม 2562 แต่การดำเนินการดังกล่าวถูกเลื่อนออกไป หลังจากมีการประท้วงอย่างกว้างขวาง และความรุนแรงปะทุขึ้น ซึ่งมีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตกว่า 100 ราย
กฎหมายดังกล่าวให้สัญชาติอินเดียแก่ชาวฮินดู ปาร์ซี ซิกข์ ชาวพุทธ เชน และคริสเตียนที่เข้ามายังอินเดีย จากปากีสถาน อัฟกานิสถาน และบังกลาเทศ ก่อนเดือนธันวาคม 2557 ยกเว้นชาวมุสลิม
เมื่อวันจันทร์ (11 มี.ค.) กระทรวงมหาดไทยอินเดีย กล่าวในแถลงการณ์ว่า กฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว "กฎหมายดังกล่าวซึ่งมีชื่อเรียกว่ารัฐบัญญัติแก้ไขกฎหมายสัญชาติ ปี 2567 จะทำให้บุคคลที่มีสิทธิ์สามารถยื่นขออนุมัติสัญชาติอินเดียได้"
ชาวมุสลิมจำนวนมากในอินเดียจำนวนกว่า 200 ล้านคนเกรงว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นขั้นเริ่มต้นของการขึ้นทะเบียนพลเมืองระดับชาติ ซึ่งอาจทำให้พวกเขากลายเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศที่มีประชากรกว่า 1,400 ล้านคน ขณะที่ชาวอินเดียที่มีฐานะยากจนจำนวนมากไม่มีเอกสารพิสูจน์สัญชาติของตน
นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ปฏิเสธเรื่องนี้โดยกล่าวว่า ชาวมุสลิมไม่ได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายนี้ เพราะพวกเขาไม่ต้องการการคุ้มครองจากอินเดีย
สำมะโนประชากรแห่งชาติ ซึ่งเป็นรายชื่อพลเมืองตามกฎหมายทั้งหมด จนถึงปัจจุบันมีการดำเนินการเฉพาะในรัฐอัสสัมเท่านั้นโดยกฎหมายฉบับนี้นอกจากจะสร้างความกังวลในหมู่ชาวมุสลิมแล้ว ยังจุดชนวนการประท้วงของประชาชนที่ไม่พอใจกับการไหลบ่าเข้ามาของชาวฮินดูจากบังกลาเทศ
...
กฎหมายฉบับนี้ยังไม่รวมถึงผู้อพยพจากประเทศที่ไม่ใช่มุสลิมที่หลบหนีการกดขี่ข่มเหงมายังอินเดีย รวมถึงผู้ลี้ภัยชาวทมิฬจากศรีลังกา และชาวพุทธทิเบตที่หลบหนีการปกครองของจีน นอกจากนี้ยังไม่ได้กล่าวถึงผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมโรฮีนจาจากเมียนมาที่อยู่ใกล้เคียง
พรรคภารติยะ ชนะตะ ของนายกรัฐมนตรีโมดี เคยให้คำมั่นว่าจะนำกฎหมายดังกล่าวไปบังคับใช้ ในแถลงการณ์การเลือกตั้งปี 2562 คาดว่าอินเดียจะประกาศวันเลือกตั้งทั่วไปเร็วๆ นี้ ซึ่งน่าจะจัดขึ้นในเดือนเมษายน-พฤษภาคม โดยนายโมดีได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางและคาดว่าจะชนะการเลือกตั้งสมัยที่ 3
กลุ่มสิทธิเคยประณามกฎหมายนี้มาก่อน ขณะที่ฮิวแมนไรท์วอทช์เรียกสิ่งนี้ว่า "การเลือกปฏิบัติ" และเป็นครั้งแรกในอินเดียที่ "ศาสนาเป็นพื้นฐานในการให้สัญชาติ".
ที่มา AFP
ติดตามข่าวต่างประเทศเพิ่มเติมที่ https://www.thairath.co.th/news/foreign