• เหตุการณ์หายสาบสูญอย่างลึกลับของเที่ยวบิน MH370 ผ่านมาครบ 10 ปีแล้ว และยังไม่มีใครสามารถตอบได้ว่า เกิดอะไรขึ้นกับเครื่องบินลำนี้กันแน่

  • ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ความพยายามหาเบาะแสของ MH370 ล้วนไม่ประสบความสำเร็จ ไม่พบทั้งจุดตก หรือร่างผู้สูญหายแม้แต่รายเดียว

  • แต่รัฐบาลมาเลเซียเตรียมผลักดันให้เกิดปฏิบัติการค้นหาอีกครั้ง โดยที่ครอบครัวของผู้สูญหายยังคงหวังว่า สักวันหนึ่งจะได้รับคำตอบว่า เกิดอะไรขึ้นกับบุคคลอันเป็นที่รักของพวกเขา

ครบ 10 ปีแล้ว ที่เครื่องบินโดยสารเที่ยวบินที่ MH 370 ของสายการบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ส หายไปจากจอเรดาร์ เหนือมหาสมุทรอินเดีย เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2557 และจนถึงทุกวันนี้ มันยังคงเป็นหนึ่งในปริศนาทางการบินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก

ไม่มีใครเชื่อว่า เครื่องบินที่ทันสมัยอย่าง โบอิ้ง 777-200ER จะหายไปพร้อมกับผู้โดยสารและลูกเรือ 239 ชีวิตบนเครื่อง โดยไม่มีคำอธิบายใดๆ แต่ปฏิบัติการค้นหาหลายต่อหลายครั้งตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ยังคงไม่พบชิ้นส่วนหลักของเครื่องบิน หรือร่างของผู้เคราะห์ร้ายแม้แต่รายเดียว

ในพิธีรำลึกโศกนาฏกรรม MH370 เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของมาเลเซีย ประกาศว่า กำลังผลักดันให้เกิดการค้นหาอีกครั้ง เพื่อไขปริศนาการหายไปของเครื่องบินลำนี้ ขณะที่ครอบครัวของบรรดาผู้โดยสารก็ยังคงหวังว่า สักวันหนึ่งจะได้รับคำตอบว่า เกิดอะไรขึ้นกับบุคคลอันเป็นที่รักของพวกเขา

...

การหายสาบสูญของ MH370

เที่ยวบิน MH370 ออกเดินทางตามกำหนดการจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย ไปยังกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน แต่ศูนย์ควบคุมการบินกลับขาดการติดต่อกับโบอิ้ง 777 ลำนี้ ขณะบินอยู่เหนือทะเลจีนใต้ หลังจากออกเดินทางได้ราว 60 นาที

การหายไปของ MH370 ทำให้เกิดความพยายามตามรอยครั้งใหญ่ ด้วยเรดาร์ของกองทัพทั่วคาบสมุทรมลายู และพบว่าเครื่องบินลำนี้ถูกตรวจพบเป็นครั้งสุดท้ายด้วยเรดาร์ในทะเลอันดามัน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของมหาสมุทรอินเดีย

จากนั้นเจ้าหน้าที่ใช้ข้อมูลจากการสื่อสารอัตโนมัติผ่านทางดาวเทียม ระหว่าง MH370 กับดาวเทียมโทรคมนาคม ‘อินมาร์แซท’ (Inmarsat) ของสหราชอาณาจักร จนได้ข้อบ่งชี้ว่า จุดสุดท้ายที่โบอิ้ง 777 ลำนี้อยู่ คือในพื้นที่ทางใต้ของมหาสมุทรอินเดีย ตามแนวเส้นโค้งที่ 7 (7th arc)

ข้อมูลดังกล่าวกลายเป็นพื้นฐานในการระบุพื้นที่ค้นหาในเบื้องต้น ซึ่งดำเนินการโดย สำนักงานความปลอดภัยการคมนาคมทางอากาศออสเตรเลีย โดยการค้นหาทางอากาศในตอนแรก เกิดขึ้นบริเวณทะเลจีนใต้และทะเลอันดามัน

แต่หนึ่งในสิ่งที่เป็นปริศนามาจนถึงทุกวันนี้คือ อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ MH370 เปลี่ยนเส้นทางจากการบินตัดทะเลจีนใต้ไปปักกิ่ง เป็นบินวกกลับมาและไปยังมหาสมุทรอินเดีย และเครื่องบินลำนี้หายไปได้อย่างไร

แผนที่การค้นหาเบื้องต้นในปี 2557
แผนที่การค้นหาเบื้องต้นในปี 2557

การค้นหาไม่ประสบความสำเร็จ

ในวันที่ 18 มี.ค. 2557 หรือ 10 วันหลังการหายไปของ MH 370 ออสเตรเลียก็เป็นผู้นำการค้นหาในมหาสมุทรอินเดีย ร่วมกับเครื่องบินจากหลายประเทศ แต่การค้นหาที่ดำเนินต่อเนื่องจนถึงวันนี้ 28 เม.ย. 2557 ครอบคลุมพื้นที่ 4,500,000 ตร.กม. กลับไม่พบเศษชิ้นส่วนเครื่องบิน ที่เชื่อว่าตกลงไปในทะเลแล้วเลย

การค้นหาในน้ำ 2 จุดในมหาสมุทรอินเดีย ในพื้นที่ห่างจากรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย 2,800 กม. ไม่พบหลักฐานว่า สถานที่ใดเป็นจุดตกของ MH370 แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่ลดละความพยายาม การค้นหาดำเนินไปจนถึงวันที่ 17 ม.ค. 2560 หรือ 1,046 วันนับตั้งแต่เกิดเหตุ พวกเขาจึงตัดสินใจยกเลิกภารกิจ ซึ่งต้องใช้งบประมาณถึง

แต่ในเดือนมกราคมปี 2561 รัฐบาลมาเลเซียประกาศเริ่มการค้นหาครั้งที่ 2 หลังต้านแรงกดดันจากครอบครัวของผู้โดยสารที่สูญหายไม่ไหว โดยจ้างบริษัท ‘โอเชียน อินฟินิตี’ (Ocean Infinity) ของสหรัฐฯ ออกค้นหาใต้ทะเล แต่ปฏิบัติการดำเนินไปได้เพียง 3 เดือนเท่านั้นก็ถูกระงับ โดยค้นหาครอบคลุมพื้นที่ราว 112,000 ตร.กม. แต่ไม่พบชิ้นส่วนใดๆ

พบเบาะแสเพียงเล็กน้อย

ปฏิบัติการค้นหาทั้ง 2 ครั้งไม่สามารถระบุจุดตกของโบอิ้ง 777 ลำนี้ได้ แต่ตลอดหลายปีหลังเกิดเหตุ มีเศษชิ้นส่วนหลายชิ้นกว่า 20 ชิ้น ที่เชื่อว่ามาจาก MH370 ถูกคลื่นซัดไปเกยชายหาดตามแนวชายฝั่งแผ่นดินใหญ่ของทวีปแอฟริกา, เกาะมาดากัสการ์, ประเทศมอริเชียส, เกาะเรดูนิยง และโรดริเกส

ในเดือนกรกฎาคม 2558 เจ้าหน้าที่สืบสวนยืนยันว่า ชิ้นส่วนขนาดใหญ่ที่ถูกซัดเกยหาดเกาะเรอูนิยง ในมหาสมุทรอินเดีย คือ flaperon หรือชิ้นส่วนบริเวณปีก ทำหน้าที่สร้างแรงยกระหว่างเครื่องขึ้นและลง จากเครื่อง MH370

นอกจากนั้น ยังมีชิ้นส่วนอีก 2 ชิ้นที่ได้รับการยืนยันว่ามาจาก MH370 ได้แก่ชิ้นส่วนส่วนรูปสามเหลี่ยม ทำจากไฟเบอร์กลาสผสมอะลูมิเนียม ซึ่งมีคำว่า “ห้ามเหยียบ” ติดอยู่ ถูกพบที่ชายหาดของโมซัมบิกในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 และอีกชิ้นคือ ชิ้นส่วนปีก ซึ่งถูกซัดเกยหาดเกาะแทสมาเนียนในเดือนกันยายน 2559

...

เศษชิ้นส่วนที่เชื่อว่ามาจาก MH370 ถูกนำมาจัดแสดงในเมืองซูบัง จายา ของมาเลเซีย เพื่อรำลึกครบรอบ 10 ปีการหายสาบสูญของเครื่องบินลำนี้
เศษชิ้นส่วนที่เชื่อว่ามาจาก MH370 ถูกนำมาจัดแสดงในเมืองซูบัง จายา ของมาเลเซีย เพื่อรำลึกครบรอบ 10 ปีการหายสาบสูญของเครื่องบินลำนี้

ทฤษฎีสาเหตุการหายไปของ MH370

การหายไปของ MH370 ทำให้เกิดการตั้งทฤษฎีมากมายเพื่อหาสาเหตุ ตั้งแต่ทฤษฎีธรรมดาไปจนถึงปลุกปั่น บางคนเชื่อว่า โบอิ้ง 777 ลำนี้อาจเชื้อเพลิงหมดและตกทะเล ขณะที่บางทฤษฎีเชื่อว่านักบินพยายามนำเครื่องลงจอดบนผิวน้ำทะเลแต่ไม่สำเร็จ คนขับอาจเสียการควบคุม, จงใจทำเครื่องตก หรือทฤษฎีที่เครื่องบินถูกจี้กลางอากาศก็มี

กว่าที่รายงานการสืบสวนอย่างเป็นทางการ ความยาว 495 หน้า จะได้รับการเผยแพร่ออกมา ต้องรอจนถึงปี 2561 โดยไม่มีการสรุปอย่างชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้นกับเที่ยวบิน MH370 สร้างความไม่พอใจให้แก่ครอบครัวของผู้โดยสารที่หายตัวไป ที่คาดหวังจะได้รู้บทสรุปของบุคคลอันเป็นที่รัก แม้เพียงเล็กน้อยก็ยังดี

...

มาเลเซียเตรียมเริ่มค้นหาอีกครั้ง

มาเลเซียเตรียมผลักดันการค้นหา MH370 ใหม่อีกครั้ง หลังจากได้รับข้อเสนออันน่าเหลือเชื่อ “ไม่เจอไม่คิดเงิน” จากบริษัท โอเชียน อินฟินิตี ซึ่งตีกรอบพื้นที่ค้นหาให้แคบลงให้อยู่ภายในละติจูด 36 องศาใต้ ถึง 33 องศาใต้ ซึ่งห่างจากเส้นโค้งที่ 7 ลงไปทางใต้ราว 50 กม. และหากการค้นหาไม่พบเศษชิ้นส่วน พวกเขาจะขยายพื้นที่ไปทางเหนือต่อ

1 ทศวรรษที่ผ่านมา เทคโนโลยีต่างๆ พัฒนาขึ้นมาก ตอนนี้ โอเชียน อินฟินิตี มีกองยานใต้น้ำอัตโนมัติที่มีกล้องถ่ายภาพความละเอียดสูงขึ้นแล้ว ขณะที่จุดที่จะทำการค้นหา มีความลึกราว 4,000 ม. อุณหภูมิประมาณ 1-2 องศาเซลเซียส และคลื่นไม่แรง หมายความว่า ถ้าจุดนี้มีซากเครื่องบินอยู่ สภาพของมันก็อาจไม่สึกหรอมากนัก แม้ผ่านมา 10 ปีแล้ว

ครอบครัวผู้สูญหายหวังได้รับคำตอบ

ครอบครัวของผู้สูญหายต่างรู้สึกยินดีกับการผลักดันให้มีการค้นหา MH370 อีกครั้ง โดยนาย เค.เอส. นเรนทราน ชาวอินเดีย ผู้เขียนหนังสือบอกเล่าเรื่องการต่อสู้กับความสูญเสียของครอบครัวผู้โดยสารเที่ยวบิน MH370 บอกกับสำนักข่าว DW ว่ามีช่วงเวลาที่ยากลำบากมากมาย นับตั้งแต่ภรรยาของเขาหายไปพร้อมกับเครื่องบินมรณะลำนี้

“ผมยินดีที่รัฐบาลมาเลเซียมีข้อบ่งชี้ และสนับสนุนการค้นหา” นายนเรนทรานกล่าว และหวังว่า รัฐบาลกับโอเชียน อินฟินิตี จะบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้

ทั้งนี้ ผู้โดยสารส่วนใหญ่บนเที่ยวบิน MH370 เป็นชาวจีน และญาติของพวกเขากว่า 40 ครอบครัว ได้ยื่นฟ้องร้อง มาเลเซีย แอร์ไลน์ส กับผู้ผลิตเครื่องยนต์อย่าง โรลส์-รอยซ์ เพื่อเรียกร้องค่าชดเชยก้อนโต้ถึง 11.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 400 ล้านบาท) ซึ่งการพิจารณาคดีได้เริ่มขึ้นแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

ขณะที่มากกว่า 100 ครอบครัวในจีน บรรลุข้อตกลงยุติคดีกับคู่กรณีเรียบร้อยแล้ว โดยจะได้รับเงินชดเชยระหว่าง 300,000-400,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 10-14 ล้านบาท)

ด้าน น.ส.นิโคเลตต์ โกเมส ลูกสาวของ แพทริก หัวหน้าพนักงานบนเที่ยวบิน MH370 ระบุว่า “เราไม่เคยนึกฝันมาก่อนเลยว่าเริ่มแบบนี้จะเกิดขึ้นกับสมาชิกครอบครัวของเรา มันยังคงยากลำบาก ความทรงจำยังคงค้างอยู่ และเรายังคงคิดถึงเขาในทุกๆ วัน และเขาก็ยังเหมือนอยู่ในชีวิตของเรา”

“แม้จะผ่านไป 10 ปีแล้ว เหตุการณ์นี้ก็ยังรู้สึกสดใหม่สำหรับพวกเรา ฉันยังรู้สึกสะเทือนใจมากเมื่อนึกถึงมัน ฉันหวังว่ารัฐบาล (มาเลเซีย) จะรักษาสัญญา และเราขอภาวนาให้เราได้รับบทสรุปโดยเร็ว”

“แน่นอน เราต้องคิดถึงความเป็นไปได้ที่จะไม่ได้รับข่าวใดๆ โดยเร็ว มันอาจเป็นภายในปีนี้, ปีหน้า หรืออีก 5 ปีข้างหน้า และเราภาวนาให้การค้นหาประสบความสำเร็จ ส่งเดียวที่เราทำได้คือภาวนาเท่านั้น วันที่ 8 มี.ค.เป็นวันที่แสนเศร้ามากสำหรับเราทุกคน”





ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี

ที่มา : the conversation , dwnytimes

...