หน่วยติดตามสภาพภูมิอากาศของยุโรป ระบุเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ถือเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกันที่อุณหภูมิสูงเป็นประวัติการณ์ทั่วโลก

หน่วยติดตามสภาพภูมิอากาศของยุโรป ระบุว่า เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาถือเป็นเดือนกุมภาพันธ์ที่อบอุ่นที่สุดเป็นประวัติการณ์ทั่วโลก นับเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกันที่อุณหภูมิสูงเป็นประวัติการณ์ทั่วโลก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนำพาโลกเข้าสู่ "ดินแดนที่ไม่รู้จัก" 

ในปีที่ผ่านมาได้เกิดพายุ ความแห้งแล้ง และไฟป่า เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์ ซึ่งมีความรุนแรงมากขึ้นจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่ส่งผลให้อากาศร้อนขึ้นจนน่าจะถึงระดับที่ร้อนที่สุดในรอบกว่า 100,000 ปี

เมื่อเดือนที่แล้ว หน่วยงานติดตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรป (C3S) ระบุว่า ช่วงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2566 ถึงมกราคม 2567 ถือเป็นครั้งแรกที่โลกต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่ร้อนกว่ายุคก่อนอุตสาหกรรมถึง 1.5 องศาเซลเซียส ติดต่อกันเป็นเวลา 12 เดือนติดต่อกัน ขณะที่แนวโน้มดังกล่าวยังคงดำเนินต่อไป โดยอุณหภูมิของเดือนกุมภาพันธ์โดยรวมสูงขึ้น 1.77 องศาฯ สูงกว่าการคาดการณ์รายเดือนในปี 1850-1900 ซึ่งเป็นช่วงอ้างอิงก่อนยุคอุตสาหกรรม ตั้งแต่เขตไซบีเรียไปจนถึงทวีปอเมริกาใต้ โดยที่ยุโรปถือว่ามีฤดูหนาวที่อบอุ่นที่สุดเป็นอันดับสองของโลก

C3S กล่าวว่า ในช่วงครึ่งแรกของเดือน อุณหภูมิโลกในแต่ละวัน "สูงเป็นพิเศษ" โดยมีถึง 4 วันติดต่อกันที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่าช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรมถึง 2 องศาฯ หรือไม่กี่เดือนหลังจากที่โลกมีอุณหภูมิเกินขีดจำกัดดังกล่าวเป็นครั้งแรก

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวยังนับไม่เกินตัวเลขที่ระบุไว้ในความตกลงปารีส ที่ต้องการรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาฯ เหนืออุณหภูมิในช่วงก่อนการพัฒนาอุตสาหกรรม และพยายามจำกัดให้อุณหภูมิโลกต่ำกว่านั้นประมาณ 1.5 องศาฯ

...

C3S ยังกล่าวว่า อุณหภูมิผิวน้ำทะเลทำสถิติสูงสุดครั้งใหม่ ทำลายสถิติความร้อนสุดขั้วก่อนหน้านี้ในเดือนสิงหาคม 2566 ที่ 21 องศาฯ ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์

ทั้งนี้ มหาสมุทรครอบคลุมพื้นที่ 70% ของดาวเคราะห์ และรักษาพื้นผิวโลกให้น่าอยู่โดยการดูดซับความร้อนส่วนเกิน 90% ที่เกิดจากมลพิษคาร์บอนจากกิจกรรมของมนุษย์นับตั้งแต่ช่วงต้นของยุคอุตสาหกรรม มหาสมุทรที่ร้อนขึ้น หมายถึงความชื้นในชั้นบรรยากาศที่มากขึ้น นำไปสู่สภาพอากาศที่ไม่แน่นอนมากขึ้น เช่น ลมแรงและฝนตกหนัก

วัฏจักรเอลนีโญซึ่งทำให้พื้นผิวทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้อุ่นขึ้น ส่งผลให้สภาพอากาศที่ร้อนขึ้นทั่วโลก คาดว่าจะหายไปในช่วงต้นฤดูร้อน นายคาร์โล บูออนเทมโป ผู้อำนวยการ C3S กล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านไปสู่ปรากฏการณ์ลานีญาที่เย็นลง อาจเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาด ซึ่งอาจลดโอกาสที่ปี 2567 จะเป็นอีกปีที่อากาศร้อนจะทำลายสถิติอีกปีหนึ่ง.

ที่มา AFP

ติดตามข่าวต่างประเทศเพิ่มเติมที่ https://www.thairath.co.th/news/foreign