สื่อต่างประเทศรายงานว่า ปัญหา PM 2.5 ทำให้คนไทยป่วยถึง 10.5 ล้านคนในปี 2566 และจำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มสูงขึ้นอีกในปีนี้
สำนักข่าว บีบีซี รายงานเมื่อวันพุธที่ 6 มี.ค. 2567 อ้างข้อมูลซึ่งเปิดเผยโดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ ‘สภาพัฒน์’ เมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา มีคนไทยถึง 10.5 ล้านคน ต้องเข้ารับการรักษาอาการป่วยที่เกี่ยวข้องกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 ท่ามกลางปัญหาคุณภาพอากาศของไทยที่กำลังเลวร้ายลง
ผู้ป่วยดังกล่าว รวมถึงผู้ที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรังอย่าง มะเร็งปอด, หลอดลมอักเสบ, โรคหืด และโรคหัวใจ โดยโรคที่พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากที่สุดคือ โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังเพิ่มขึ้น 39.1% พบมากที่สุดในจังหวัดนครราชสีมา รองลงมาคือ โรคมะเร็งปอด เพิ่มขึ้น 19.7% พบมากที่สุดในกรุงเทพมหานคร
การเผานาเป็นวงกว้างและเหตุไฟป่า โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือของไทย มักก่อให้เกิดควันพิษในช่วงเริ่มต้นปี และปัญหานี้ยังเกิดขึ้นในปี 2567 โดยในช่วง 9 สัปดาห์แรกของปี มีจำนวนผู้ป่วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศถึง 1.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปี 2566 กว่า 3 แสนคน
ทั้งนี้ PM 2.5 คืออนุภาคอันตรายขนาดเล็ก ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมโครเมตร สามารถเข้าสู่กระแสเลือดผ่านทางปอด และทำให้เกิดโรคต่างๆ เช่น แสบหรือคันบริเวณดวงตาและผิวหนัง, ไอ และแน่นหน้าอก มลพิษชนิดนี้ยังอาจไปทำให้อาการป่วยที่มีอยู่แล้วอย่างโรคหัวใจหรือปอด มีอาการหนักขึ้นด้วย
เมื่อปี 2566 หลายจังหวัดในภาคเหนือของไทยติดอันดับท็อป เมืองที่มีมลพิษทางอากาศมากที่สุดในโลก แพลตฟอร์มสังเกตการณ์สภาพอากาศอย่าง IQAir จัดให้จังหวัด เชียงใหม่, เชียงราย และลำปาง มีคุณภาพอากาศระดับ ‘ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ’
...
ปัญหามลพิษทางอากาศในไทยมักรุนแรงขึ้นในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งตามปกติจะอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม สาเหตุหลักมาจากการเผาอ้อยและตอซังข่าวของเกษตรกร เพื่อเคลียร์ที่ดิน ที่ยังแก้ไม่ได้มาจนถึงตอนนี้
ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign
ที่มา : bbc