“ความวิตกกังวล” คือโรคระบาดสมัยใหม่ “ดอกเตอร์ สไมลีย์ แบลนตัน” นักจิตวิทยาชื่อดัง กล่าวเอาไว้ มันเป็นนิสัยทางใจที่บั่นทอนสุขภาพ ไม่มีใครเกิดมาพร้อมกับความวิตกกังวล แต่เราสร้างมันขึ้นมาเอง และสะสมจนก่อตัวฟูมฟักขึ้นกลายเป็นโรคภัยที่แฝงเร้นและเป็นอันตรายที่สุดของมนุษย์

ผู้คนยุคใหม่จำนวนมากป่วยเพราะ “ความกังวลสะสม” เมื่อไม่สามารถขจัดความเครียด จึงส่งผลต่อบุคลิกภาพ ทำให้สุขภาพอ่อนแอ คำว่า “กังวล” ในภาษาอังกฤษ มีรากศัพท์มาจากคำที่แปลว่า “หายใจไม่ออก” เหมือนมีใครมาบีบคอ ตัดพลังไหลเวียนของชีวิต นั่นล่ะคืออาการของคนที่ปล่อยให้ความวิตกกังวลกัดกร่อนจิตใจมาต่อเนื่องยาวนาน

ในวงการแพทย์ยังบ่งชี้ว่า “ความวิตกกังวล” คือปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคไขข้ออักเสบ ผู้ป่วยมักมีความวิตกกังวลจนเป็นนิสัยอันเกิดจากปัญหาทางการเงิน, ความหงุดหงิดง่าย, ความเครียดสะสม, ความหวาดกลัว, ความเดียวดาย, ความเศร้าโศก หรือการคิดร้ายเป็นเวลานาน

“ดร.นอร์แมน วินเซนต์ พีล” เขียนไว้ในหนังสือ “THE POWER OF POSITIVE THINKING” ว่า มนุษย์เราสามารถเอาชนะความกังวลได้ด้วย “การดีทอกซ์ใจ” โดยฝึกทำใจให้ว่างทุกวัน โดยเฉพาะก่อนเข้านอน เพื่อหลีกเลี่ยงการเก็บความกังวลไว้ในจิตสำนึกขณะที่นอนหลับ ระหว่างที่หลับความคิดจะเข้าไปในจิตใต้สำนึกได้ลึกกว่าปกติ ช่วง 5 นาทีก่อนที่จะหลับนั้นมีความสำคัญที่สุด เพราะในช่วงเวลาสั้นๆนี้จิตใจจะเปิดกว้าง มันจะซึมซับความคิดสุดท้ายที่อยู่ในจิตสำนึกขณะที่เราตื่นอยู่

ขั้นตอนการชำระล้างใจนี้สำคัญต่อการเอาชนะความวิตกกังวล เพราะความกลัวและความกังวลจะปิดกั้นจิตใจและขัดขวางพลังงานภายในของเรา เราสามารถชำระล้างความคิดนั้นไปจากใจได้ หากคอยกำจัดมันทุกวัน มันก็จะไม่สะสม

...

วิธีการคือ ให้จินตนาการถึงสิ่งที่สร้างสรรค์เพื่อระบายพวกมันออกไป ทำใจให้ว่างเปล่าปราศจากความกังวลและความกลัว โดยจินตนาการว่าความวิตกกังวลทั้งหมดไหลออกไปเช่นเดียวกับน้ำที่ไหลออกจากอ่างหลังเปิดจุกก๊อกออก แม้แต่ในระหว่างวันก็สามารถทำได้ โดยหาที่เงียบสงบค่อยๆดีทอกซ์ใจอย่างน้อยครั้งละ 5 นาที

ถ้าจะให้แอดวานซ์ขึ้นไปอีก อาจจินตนาการต่อไปว่าเรากำลังเอื้อมมือเข้าไปในใจและหยิบความกังวลนั้นทิ้งออกไป เด็กเล็กมีทักษะในการจินตนาการที่ดีกว่าผู้ใหญ่ พวกเขาตอบสนองต่อเกมจูบให้หายเจ็บและการโยนความกลัวทิ้งไป เพราะในใจเด็กๆเชื่อว่ามันจบแล้วจริงๆ

 ในเมื่อจินตนาการคือที่มาของความวิตกกังวล ฉะนั้นหนามยอกต้องเอาหนามบ่ง โดยการใช้จินตนาการเพื่อรักษาความวิตกกังวล ด้วยการปลดปล่อยมันออกไปจากจิตใจ

อย่างไรก็ดี “ดร.นอร์แมน” ย้ำว่า การทำใจให้ว่างเปล่าอาจ ยังไม่เพียงพอ เพราะใจจะว่างเปล่าอยู่ได้ไม่นาน ฉะนั้น ระหว่างที่ฝึกทำใจให้ว่าง ให้เติมเต็มใจด้วยพลังศรัทธา, ความหวัง และความกล้าหาญ ทำทุกวัน วันละหลายๆครั้ง จนความคิดเหล่านี้มันเติมเต็มอยู่ในใจ และขับไล่ความวิตกกังวลออกไปจากจิตใจ มีเพียงความศรัทธาที่จะสามารถเอาชนะความกลัวได้เสมอ หากเราคอยเติมใจตัวเองด้วยศรัทธาก็จะไม่เหลือที่ว่างไว้สำหรับความกลัว

ฝึกพูดในทางบวกเกี่ยวกับทุกอย่างที่เคยพูดถึงในทางลบ สร้างสัมพันธ์กับคนที่มีความหวังในชีวิต อยู่กับเพื่อนที่คิดบวก, มีศรัทธา และสร้างสรรค์บรรยากาศดีๆเสมอ วิธีนี้ช่วยกระตุ้นให้มีทัศนคติที่ดี ดีไปกว่านั้นคือการยื่นมือไปช่วยเหลือคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับความวิตกกังวล ปลดล็อกให้คนอื่นได้เท่ากับปลดล็อกใจตัวเอง.

มิสแซฟไฟร์

คลิกอ่านคอลัมน์ "คนดังอะราวนด์เดอะเวิลด์" เพิ่มเติม