เมื่อวันที่ 29 ก.พ. สำนักข่าวการ์เดียนรายงานผลการศึกษาของบริติช เมดิคัล เจอร์นัล วารสารทางการแพทย์จากอังกฤษ โดยมีคณะผู้วิจัยจากสถาบันที่เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ เช่น วิทยาลัยสาธารณสุขจอห์นส์ ฮอปกินส์ บลูมเบิร์กของสหรัฐฯ มหาวิทยาลัยดีกินของออสเตรเลีย และมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ของฝรั่งเศส เผยว่า อาหารแปรรูปสูง (Ultra-pro cessed food หรือ UPF) เช่น ซีเรียล น้ำอัดลม อาหารกึ่งสำเร็จรูป และฟาสต์ฟู้ด ส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพ เสี่ยงก่อให้เกิดโรคมากถึง 32 โรค รวมถึงอาจทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร อาทิ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร โรคเกี่ยวกับระบบเผาผลาญ และโรคทางจิตเวช

งานวิจัยดังกล่าวทำการศึกษาวิเคราะห์และเปรียบ เทียบงานวิจัยด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค อาหารแปรรูปสูง 45 ฉบับ จากการทบทวนวรรณกรรมในเรื่องอาหารแปรรูปสูงที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพจำนวน 14 ฉบับ ที่ตีพิมพ์ในช่วง 3 ปีที่แล้ว โดยมีจุดประสงค์ เพื่อพัฒนาและประเมินประสิทธิภาพการใช้มาตรการที่อิงจากประชากรเป็นหลัก รวมถึงมาตรการด้านสาธารณสุขในการควบคุม และลดการใช้สารเคมีในอาหารแปรรูปสูง เพื่อยกระดับสุขภาพของประชาชน

โดยจากการศึกษาพบว่า การบริโภคอาหารแปรรูปสูงเสี่ยงเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดมากถึง 50% ขณะที่มีความเสี่ยงการเกิดโรควิตกกังวล และโรคทางจิตเวชอื่นๆ 48-53% รวมถึงเสี่ยงเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 อยู่ที่ 12% นอกจากนี้ หากบริโภคอาหารดังกล่าวในปริมาณมากยังเสี่ยงเกิดโรคอ้วน 55% โรคผิดปกติด้านการนอนหลับ 41% และโรคซึมเศร้า 20% ยังพบว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของอาหารในอังกฤษและสหรัฐฯ เป็นอาหารแปรรูปสูงโดยเฉลี่ย อีกทั้งมีการบริโภคอาหารแปรรูปสูงเป็นประจำถึง 80% โดยเฉพาะในวัยรุ่น ผู้มีรายได้น้อย และผู้อาศัยในพื้นที่ห่างไกล

...

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีผลการวิจัยที่รองรับว่า ร่างกายของมนุษย์สามารถปรับสภาพให้เข้ากับอาหารแปรรูปสูงเหล่านี้ได้ ร่างกายอาจตอบสนองต่อสารอาหาร หรือสารเคมีภายในอาหารดังกล่าวที่บริโภค แต่จะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ร่างกาย หรืออาจส่งผลเสียต่อระบบอวัยวะภายใน แต่ผลกระทบเหล่านี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและสุขภาพของแต่ละบุคคล รวมถึงปริมาณการบริโภคอาหารแปรรูปสูงเช่นกัน เนื่องจากอาหารเหล่านี้มักใส่สารแต่งสี กลิ่น รสชาติ รวมทั้งมีบรรจุภัณฑ์สวยงามเพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคอยากอาหาร แม้ไม่ได้รู้สึกหิวก็ตาม อีกทั้งยังมีแนวโน้มเติมน้ำตาล ไขมัน หรือเกลือในอาหารแปรรูปสูง มากกว่าสารที่ให้คุณค่าทางโภชนาการ เช่น วิตามินและกากใย.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่