สมรภูมิความขัดแย้ง “ระหว่างรัสเซีย -ยูเครนยืดเยื้อมา 2 ปี” นับวันยิ่งตึงเครียดแทบมองไม่เห็นสัญญาณ “เจรจายุติการสู้รบสู่สันติภาพ” ทำให้เกิดภาพการสูญเสียชีวิต และทรัพย์สินมหาศาลที่ไม่ต่างไปจาก “สมรภูมิในตะวันออกกลาง” นับแต่อิสราเอลโจมตีกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซามาอย่างต่อเนื่อง

จนการสู้รบขยายไปยัง “ดินแดนเลบานอน ซีเรีย เวสต์แบงก์ อิรัก อิหร่าน เยเมน” ส่งผลให้โลกถูกแบ่งเป็น 3 ฝ่าย มีทั้งฝ่ายยืนข้างคู่ขัดแย้ง และฝ่ายวางตัวเป็นกลาง สิ่งนี้เป็นสัญญาณก่อตัวไฟสงครามโลกหรือไม่ ผศ.ดร.กฤษฎา พรหมเวค ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง บอกว่า

สมรภูมิรัสเซีย-ยูเครนค่อนข้างดุเดือดหลายจุด เพราะด้วยยูเครนต้องการพื้นที่คืนตั้งแต่โดเนตสก์ ลูฮันสก์ แคร์ซอน และซาโปริซเซีย แล้วยิ่งไม่นานมานี้ “ยูเครน” ได้มุ่งเป้าโจมตีภาคพลเรือนของรัสเซียในเมืองเบลโกรอดห่างจากชายแดน 30 กม. ส่งผลให้รัสเซียสูญเสียชีวิต-ทรัพย์สินมากที่สุดนับแต่ทำสงครามเต็มรูปแบบในยูเครนมานี้

...

ทำให้ “วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย” ยกระดับโจมตียูเครนเข้มข้นขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2567 ทั้งโจมตีเพื่อยึดครองโอเดสซา และมิโคลาอีฟเมืองท่าใหญ่ของยูเครน เพื่อจำกัดการส่งออกธัญพืชให้ประเทศตะวันตกต้องเจอปัญหาขาดแคลนอาหารเป็นการตอบโต้ “การคว่ำบาตร” แต่ก็ทำให้หลายชาติต้องพลอยรับกรรมด้วย

ผศ.ดร.กฤษฎา พรหมเวค
ผศ.ดร.กฤษฎา พรหมเวค

กระทั่งประชาชนในหลายประเทศเดือดร้อนต้องออกมาประท้วงคัดค้าน “ผู้นำ” หยุดสนับสนุนช่วยเหลือยูเครนแล้วหันมาดูแลพลเมืองตัวเองให้ดีก่อนอย่างล่าสุด “สหภาพยุโรปรวมตัวประชุมวาระพิเศษ” เพื่อหารือมอบเงินสนับสนุนให้ “ยูเครน” ส่งผลให้เกษตรกรเบลเยียม ฝรั่งเศส ต้องออกมาชุมนุมประท้วงกันอย่างดุเดือด

จริงๆแล้วสถานการณ์การสู้รบ “ยูเครนกำลังตกที่นั่งลำบาก” จากการขาดแคลนอาวุธยุทโธปกรณ์สำหรับต่อกรกับ “รัสเซีย” แล้วยิ่งมีข่าวการทุจริตจัดซื้ออาวุธมูลค่านับพันล้านบาท ทำให้กำลังทหารอยู่ในสมรภูมิต่างไม่พอใจกันอย่างมาก ขณะที่พลเมืองหลายคนก็ไม่อยากออกไปสู้รบต่างพากันหนีทหารมากมายเช่นกัน

ดังนั้นในช่วงหลายเดือนมานี้ “ผู้นำหลายชาติ” ต่างเรียกร้องให้ยูเครนเปิดเจรจาสันติภาพกับรัสเซียเพื่อยุติสงครามแต่เป็นเรื่องลำบากด้วย “นาโต้ และสหรัฐฯ” ยังสนับสนุนในการสู้รบต่อส่ง ผลให้ “โวโลดิเมียร์ เซเลนสกีประธานาธิบดียูเครน” ไม่สามารถลงจากสมรภูมินี้ได้ เว้นแต่ต้องเปลี่ยนตัวผู้นำยูเครนคนใหม่

เรื่องนี้ก็เป็นไปได้ยากอีก “ด้วยภาวะสงครามมักประกาศกฎอัยการศึก” จึงไม่อาจจัดการเลือกตั้งใหม่ได้จนกว่าการสู้รบจะสงบ กลายเป็นปัญหาขัดแย้งภายใน เมื่อ “เซเลนสกี” ประกาศปลดผู้บัญชาการทหารสูงสุด เพราะก่อนนั้นมีข่าวลือว่า “จะเกิดการเปลี่ยนตัวผู้นำ” ทำให้เซเลนสกีชิงลงมือเปลี่ยนผู้นำทางทหารระดับสูงหลายคน

ถ้ามาดูในส่วนทาง “รัสเซีย” ไม่นานมานี้ สภาฯ ก็ได้ลงมติกำหนดการเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่ ในวันที่ 17 มี.ค.2567 ในการนี้ “ปูติน” ยังลงสมัครชิงตำแหน่งเช่นเดิมแล้วเชื่อว่า “ประชาชน” น่าจะสนับสนุนอีกสมัยให้เป็นแรงต่อกร จากกรณี “ชาติตะวันตก” พยายามกดดันคว่ำบาตรให้รัสเซียต้องอยู่โดดเดี่ยวอยู่ในขณะนี้

...

เท่าที่คุยกับเพื่อนรัสเซีย การเลือกตั้งครั้งนี้ “ปูติน” อาจได้ชัยชนะแบบแลนด์สไลด์ด้วยซ้ำ ดังนั้นสงครามระหว่างยูเครน-รัสเซียเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ.2565 “เกิดการสูญเสียมหาศาล” แล้วการสู้รบนี้ก็น่าจะยังต้องเดินหน้าต่อไป ด้วยเงื่อนไขที่ยูเครนเรียกร้องให้รัสเซียส่งคืนพื้นที่ที่ยึดครองทั้งหมดแบบนี้คงเป็นไปได้ยาก

ทว่าถัดมาดู “สมรภูมิในตะวันออกกลาง” สงครามระหว่างอิสราเอลยังคงเดินหน้าเข้าจู่โจมตีกลุ่มฮามาสอย่างต่อเนื่อง แล้วกำลังเคลื่อนแนวรบไปยังตอนใต้ของฉนวนกาซาใกล้กับชายแดนราฟาห์ของอียิปต์ ทั้งเน้นเพิ่มการโจมตีชาวปาเลสไตน์ในเขตเวสต์แบงก์หลายระลอก ทั้งที่บริเวณจุดนี้มิใช่เป็นพื้นที่เกี่ยวข้องกันด้วยซ้ำ

เท่านั้นยังไม่พอสงครามอิสราเอล-ฮามาสมิได้จำกัดเฉพาะในฉนวนกาซาแต่ส่งผลให้ “สถานการณ์ในตะวันออกกลางตึงเครียดทั้งหมด” ด้วยกลุ่มติดอาวุธออกมาสนับสนุน “กลุ่มฮามาส” เริ่มการโจมตีตอบโต้อิสราเอล และพันธมิตรสำคัญอย่าง “สหรัฐอเมริกา” กลายเป็นความขัดแย้งกระจายไปหลายพื้นที่แล้วขณะนี้

...

ทั้งแนวรบอิสราเอล-ฮิซบอลเลาะห์ในทางตอนเหนือติดกับเลบานอน และกองทัพอิสราเอลยังมีแนวรบอื่นอีกอย่าง เช่น อิรัก อิหร่าน ซีเรีย โดยเฉพาะในเยเมนจากกลุ่มฮูตีลอบโจมตีเรือนานาชาติที่ล่องผ่าน “ทะเลแดง” ตอบโต้อิสราเอล และพันธมิตรโจมตีเข่นฆ่าชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซานั้น

แต่ในระหว่างนี้ “แอฟริกาใต้” ได้ยื่นต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) หรือศาลโลก กล่าวหาอิสราเอลฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์ในการโจมตีฉนวนกาซาส่งผลให้ “ศาลโลก” มีคำสั่งให้อิสราเอลหยุดยิงแล้วทำทุกอย่างป้องกันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และทำให้มั่นใจว่ากองกำลังทหารจะไม่ทำการสังหารหมู่

เรื่องนี้กระทบต่อ “ภาพลักษณ์อิสราเอลกลายเป็นผู้ร้ายในสายตาโลก” ขณะที่ประชาชนออกมาประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือตัวประกัน ทำให้ตอนนี้อิสราเอลค่อนข้างอยู่ในสถานการณ์ตกที่นั่งลำบากเช่นกัน

ความจริงแล้ว “สมรภูมิในตะวันออกกลางค่อนข้างซับซ้อน” เพราะกระบวนการเคลื่อนไหวหลายกลุ่มหลายแนวรบ “โยงใยเชื่อมโยงได้รับการสนับสนุนจากประเทศมหาอำนาจ” กลายเป็นสงครามตัวแทนด้วยซ้ำ

...

ขณะที่ “ประเทศในตะวันออกกลาง” ต่างไม่ต้องการการสู้รบขยายตัว “เป็นสงคราม” เพราะส่งผลกระทบความสงบในดินแดนโดยเฉพาะ “ทะเลแดง” ที่เป็นเส้นทางการค้ายุโรป-เอเชีย-ตะวันออกกลาง โดยตอนเหนือของทะเลแดงคือคลองสุเอซ ด้านใต้เป็นช่องแคบบับ อัล-มันเดบ จุดออกสู่เอเดนทะเลอาหรับ และมหาสมุทรอินเดีย

หากปิดเส้นทางนี้ก็เหมือน “ตัดเส้นทางลำเลียงสินค้าและอาวุธเข้าสู่อิสราเอล” เหตุนี้กลุ่มฮูตีในเยเมนจึงโจมตีเรือทุกลำมุ่งหน้าไปอิสราเอลและเดินเรือผ่านช่องแคบบับ อัล-มันเดบเชื่อมต่อทะเลแดงกับทะเลเอเดน ทำให้เรือพาณิชย์หลายสัญชาติต้องอ้อมไปทะเลแหลมกู๊ดโฮปใช้เวลาเพิ่มขึ้น 7-13 วัน อันมีความปลอดภัยมากกว่า

ผลตามมาคือ “ค่าระวางเรือและค่าประกันภัยปรับตัวขึ้น” การขนส่งจะล่าช้าเป็นปัญหานำเข้าสินค้าบางประเภทราคาปรับเพิ่มขึ้นตาม ดังนั้นวิกฤติความขัดแย้งทั้งในตะวันออกกลางและรัสเซีย-ยูเครน หากขยายวงกว้างย่อมส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปรับขึ้นแล้วทั่วโลกอาจต้องเผชิญภาวะขาดแคลนอาหารจากสงครามนี้

ประเด็นเหล่านี้ในปี 2567 “จับตาสัญญาณก่อตัวสุมไฟสงครามใหญ่” เพราะนอกจากวิกฤติความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีความเคลื่อนไหวจาก “เกาหลีเหนือ” ที่ทดสอบยิงขีปนาวุธร่อนนอกชายฝั่งประเทศถี่มากขึ้น ยิ่งกว่านั้นเดือน ก.พ.นี้ “ประธานาธิบดีปูตินแห่งรัสเซีย” จะเดินทางเยือนเกาหลีเหนือด้วย

สิ่งที่น่าสนใจคือ “ปูติน” ไม่เดินทางออกนอกประเทศมาตั้งแต่มีหมายจับของศาลอาญาโลก ในข้อกล่าวหาการก่ออาชญากรรมสงครามตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ.2565 กรณีรัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบ

เช่นนี้การที่ “ปูตินเยือนเกาหลีเหนือน่าจะมีนัยสำคัญแน่นอน” แล้วเท่าที่ติดตามสถานการณ์ในรัสเซียก็มีข้อส่งสัญญาณหลายประการอย่างเช่น “สส.รัสเซีย” เสนอตั้งขีปนาวุธในเวเนซุเอลา กัวเตมาลา นิการากัว อันเป็นยุทธศาสตร์หลังบ้านสหรัฐฯ สะท้อนให้เห็นความขัดแย้งกำลังก่อตัวกลายเป็นสงครามรุนแรงมากขึ้นหรือไม่

อีกทั้งยังไม่รวมถึงกรณี “ความขัดแย้งระหว่างไต้หวันต้องการแยกเอกราชออกจากจีน” ที่นับวันความสัมพันธ์จะย่ำแย่ลงจนทำให้ความตึงเครียด 2 ประเทศทวีความรุนแรงอย่างมีนัยสำคัญเริ่มปะทุมากขึ้นเรื่อยๆ

ฉะนั้นสถานการณ์ที่โลกเผชิญอยู่นี้ “ไม่มีใครคาดเดาจะบานปลายเป็นสงครามโลกหรือไม่” แต่ประเทศไทยแม้อยู่ห่างสมรภูมิความขัดแย้งนั้นก็ควรต้องเตรียมตัวไว้หาก “เกิดภาวะวิกฤติอาหาร” จะได้ใช้โอกาสสร้างแบรนด์ที่ว่า “เป็นครัวของโลก” สำหรับผลิตอาหารส่งออกให้เกิดประโยชน์กับเรา...

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม