พฤติกรรมความรุนแรงของ “เยาวชน” ถึงขั้น “เข่นฆ่า” เพื่อนร่วมโลกโดยเจตนาและไร้ความปรานีเกิดขึ้นในสหรัฐฯ บ่อยครั้งจนเริ่มชาชิน ขณะเดียวกันยังทำให้เกิดคำถามว่าผู้เป็นบิดา-มารดา สมควรต้อง “รับผิด” จากการกระทำของบุตรด้วยหรือไม่?

ประเด็นนี้ศาลสหรัฐฯ ในรัฐมิชิแกน ส่งสัญญาณครั้งสำคัญ หลังคณะลูกขุนมีคำตัดสินให้ “เจนนิเฟอร์ ครัมบ์ลีย์” วัย 45 ปี เป็นผู้ปกครองคนแรกในสหรัฐฯ ที่ต้องรับผิดโดยตรงจากการกระทำผิดของบุตร

ครัมบ์ลีย์ ผู้เป็นแม่ ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐาน “ฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา” รวม 4 กระทง จากเหตุกราดยิงที่โรงเรียนมัธยม ออกซ์ฟอร์ด เมืองออกซ์ฟอร์ด รัฐมิชิแกน ในปี 2564 โดยเงื้อมมือของ “อีธาน ครัมบ์ลีย์” บุตรชายขณะมีอายุ 15 ปี คร่าชีวิตนักเรียน 4 ราย และบาดเจ็บอีก 7 คน เธอถูกกล่าวหาว่า “ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง” จากการอนุญาตให้ลูกชาย มีปืนในครอบครองและไม่ได้เก็บรักษาอย่างมิดชิด รวมทั้งยังเพิกเฉยต่อสัญญาณอันตรายเตือนว่าลูกชายมีปัญหาด้านสุขภาพจิตต้องการความช่วยเหลือ

อัยการในคดีนี้ยังย้ำชัดด้วยว่า “บิดา-มารดา ในฐานะผู้ปกครองบุตรมีหน้าที่ทางกฎหมายในการป้องกันไม่ให้ลูกชายทำร้ายผู้อื่น แม้ว่าอาจจะไม่ล่วงรู้ถึงแผนการของลูกอย่างชัดเจนก็ตาม” อย่างไรก็ตาม ยังไม่แน่ชัดว่าจะต้องรับโทษสถานใด แต่คาดว่าอาจเผชิญโทษจำคุก 15 ปี ซึ่งเป็นโทษสูงสุดสำหรับความผิดฐาน ฆ่าผู้อื่นโดยไม่เจตนาตามกฎหมายของรัฐมิชิแกน ขณะที่การพิจารณาตัดสินบทลงโทษของเธอมีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 9 เม.ย.ต่อไป

เช่นเดียวกับ “เจมส์ ครัมบ์ลีย์” บิดาของมือปืนวัยรุ่น ผู้พาลูกชายไปซื้อปืนพกซิก ซาวเออร์ ก่อนลงมือกระหน่ำยิงในโรงเรียนก็หนีผลกรรม ไม่พ้น ถูกดำเนินคดีในข้อหาเดียวกัน เตรียมขึ้นศาลรับฟังการพิจารณาคดีในวันที่ 5 มี.ค. ส่วนผู้ก่อเหตุอย่าง “อีธาน ครัมบ์ลีย์” ปัจจุบันอายุ 17 ปี กำลังรับโทษจำคุกตลอดชีวิตในเรือนจำ

...

จากนี้ต้องรอดูว่าคำตัดสินดังกล่าวถือเป็นบรรทัดฐานทางกฎหมายต่อไปหรือไม่ นอกเหนือไปจากข้อเท็จจริงที่ว่าคำตัดสินนี้ให้ความหวังแก่ครอบครัวของเหยื่อกราดยิงว่า พ่อ-แม่จะดูแลอย่างใกล้ชิดไม่ให้ลูกๆ เข้าถึงปืนได้ รวมทั้งอบรมเลี้ยงดูให้คำแนะนำลูกอย่างใกล้ชิด ไม่ใช่หลับหูหลับตาเชื่อว่าลูกฉันเป็นคนดีอยู่ร่ำไป.

อมรดา พงศ์อุทัย

คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม