ซากดึกดำบรรพ์ หรือฟอสซิลรอยเท้า เป็นหลักฐานของช่วงเวลาหนึ่งที่สามารถเปิดเผยรายละเอียดอันน่าทึ่งเกี่ยวกับทุกสิ่งในห้วงเวลานั้น ตั้งแต่ความสูง อายุ และมวลกาย ไปจนถึงความเร็ว การเดิน และพฤติกรรมทางสังคมของสิ่งมีชีวิตที่ประทับรอยเท้าไว้ ล่าสุด ทีมนักวิจัยนานาชาติ ร่วมด้วยนักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์น บริตตานี ในฝรั่งเศส รายงานลงในวารสาร Scientific Reports ถึงการศึกษาฟอสซิลรอยเท้ามนุษย์ 85 รอย บนก้อนหินที่ชายหาดเมืองลาราเช ทางตะวันตกเฉียงเหนือของโมร็อกโก

การตรวจสอบอย่างละเอียดโดยพิจารณาจากลักษณะทางกายวิภาคที่สะท้อนจากเท้า เช่น ความโค้งมนของส้นเท้า ส่วนโค้งฝ่าเท้า และนิ้วเท้า ที่ค่อนข้างสั้น พร้อมใช้วิธีการวัดปริมาณรังสีเฉลี่ยเฉพาะบุคคล (Optically Stimulated Luminescence) ซึ่งเป็นเทคนิคล้ำสมัยใช้วัดเมื่อวัตถุ เช่น เม็ดทรายดูดซับแสงแดดครั้งสุดท้าย เพื่อระบุอายุของการเกิดรอยเท้า ทีมวิจัยสรุปว่ารอยเท้าเหล่านี้เป็นของมนุษย์อย่างน้อย 5 คน มีทั้งเด็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่ ที่ย่ำเดินผ่านหาดทรายในเมืองลาราเชเมื่อประมาณ 90,000 ปีก่อน และเป็นรอยเท้าที่เก่าแก่ที่สุดของมนุษย์โฮโม เซเปียนส์ (Homo Sapiens) ที่พบในภูมิภาคนี้

ทั้งนี้ โมร็อกโกถือเป็นที่ตั้งของแหล่งโบราณคดีถ้ำเยเบล อิรโฮด (Jebel Irhoud) เคยค้นพบซากฟอสซิลที่เก่าแก่ที่สุดของมนุษย์โฮโม เซเปียนส์ มีอายุ 300,000 ปี และยังพบรอยเท้าที่เก่าแก่ที่สุดของมนุษย์โฮโม เซเปียนส์ ที่พบในแอฟริกาใต้ มีอายุ 153,000 ปี ดังนั้น รอยเท้า ที่พบบนหาดทรายในเมืองลาราเช จึงเป็นการเพิ่มหลักฐานที่แสดงว่ามนุษย์ในยุคหินกลาง เดินทางมาเยือนแถวชายฝั่ง.

(Credit : Scientific Reports (2024). DOI: 10.1038/s41598-024-52344-5)

...

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่