แถลงการณ์กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ระบุ การที่สหรัฐฯตั้งข้อหากับสมาชิกกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิสลาม โทษฐานวางแผนสังหาร จอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงสมัยรัฐบาล โดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อปีที่แล้ว ก็เพื่อจัดการกับกลุ่มติดอาวุธ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก อิหร่าน และ กลุ่มฮามาสในปาเลสไตน์ โจมตีอิสราเอล ไปจนถึงเหตุการณ์โจมตีที่มั่นของสหรัฐฯในจอร์แดนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ทหารอเมริกันเสียชีวิต 3 นาย คำสั่งของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯยังครอบคลุมไปถึงเส้นทางรายได้ที่ผิดกฎหมายและกิจกรรมที่เป็นอันตรายจากอิหร่าน โดยอัยการสูงสุดของสหรัฐฯ ระบุเอาไว้ในแถลงการณ์ฉบับดังกล่าว
ทันทีที่ กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ประกาศยึดทรัพย์กว่า 100 ล้านดอลลาร์จากบริษัทน้ำมันแห่งหนึ่ง ที่อ้างว่ามีการฟอกเงินผ่านบัญชีของธนาคารสหรัฐฯ โดยพบว่ามีความเชื่อมโยงกับเครือข่าย IRGC กลุ่มก่อการร้าย นอกจากนี้ยังยึดน้ำมันของอิหร่านกว่า 5 แสนบาร์เรลจากเรือบรรทุกน้ำมันลำหนึ่ง มีการตั้งข้อหากับชาวเอเชีย และตะวันออกกลาง อีกจำนวนหนึ่งมีทั้งชาวจีน ชาวโอมานและชาวตุรกี ที่ถูกระบุว่าเป็นบุตรชายของอดีตผู้บัญชาการ IRGC และรัฐมนตรีน้ำมันของอิหร่านรวมอยู่ด้วย
ผลกระทบด้านราคาน้ำมันถึงจะยังไม่ชัดเจนนัก แต่เค้าราง สงครามตะวันออกกลางรอบใหม่ เห็นชัดเจนมากขึ้น สหรัฐฯ และรัฐบาลของ โจ ไบเดน ถูกกดดันให้เข้าสู่สภาวะสงคราม จากกรณีความสูญเสียของทหารสหรัฐฯในจอร์แดน และผลกระทบจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯที่จะมีขึ้นในเดือน พ.ย.นี้
ในขณะที่ อิหร่าน เองก็ต้องใช้ความอดทนอย่างสูง เล่นสงคราม เย็นตัวแทนไปเรื่อยๆ เพราะรู้ว่าหากทำสงครามในภาวะที่ขาดการสนับสนุนจากชาติตะวันออกกลางชัดเจน ในขณะที่สหรัฐฯสร้างพันธมิตรเอาไว้เพียบ อิหร่านจะเสียเปรียบขนาดไหน กลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ เอาแค่รบกับ อิสราเอล ก็หืดขึ้นคอแล้ว ที่ทำได้ในขณะนี้ก็คือ สงครามใต้ดิน สหรัฐฯเองก็ไม่กล้าประกาศสงครามแตกกับอิหร่าน เพราะไม่มั่นใจว่า จะเด็ดปีกอิหร่านในระยะเวลาอันรวดเร็วได้หรือไม่ โครงสร้างใต้ดินของอิหร่านก็ไม่ธรรมดา
...
ที่ต้องระมัดระวังอย่างมาก คือ ขั้วอำนาจจีน ที่กำลังสยายปีก ไปยังตะวันออกกลางและยุโรปทั้งหมด เป็นส่วนหนึ่งของสงครามทางการค้า และการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ
การก่อสงครามแต่ละครั้ง หมายถึง การลงทุนที่เสี่ยงต่อการขาดทุน หรือเท่าทุน มากกว่าจะมีกำไรจากผลพวงของสงคราม เพราะอาวุธในปัจจุบันเป็นการขอการสนับสนุนมากกว่า จะลงทุนซื้ออาวุธไปทำสงคราม การเข้ายึดครองประเทศที่ผ่านภัยสงครามได้ไม่คุ้มเสีย แต่เป็นการสร้างภาระให้กับประเทศมากกว่า สหรัฐฯเองก็ไม่ได้ต้องการน้ำมันมากไปกว่าการเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของโลกใบนี้
การออกตัวของ รมว.กลาโหมสหรัฐฯ พล.อ.ลอยด์ ออสติน สหรัฐฯไม่ต้องการแสวงหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง หรือสถานที่ไหนในโลก เป็นคำตอบที่ชัดเจน ดังนั้นการปล่อยให้ประเทศคู่กรณีหรือประเทศเพื่อนบ้านจัดกิจกรรมใดๆในประเทศ นอกจากจะไม่เกิดประโยชน์ ยังจะเป็นการชักศึกเข้าบ้านโดยไม่จำเป็น อย่าหาทำ.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th
คลิกอ่านคอลัมน์ “คาบลูกคาบดอก” เพิ่มเติม