• เกษตรกรในหลายประเทศทั่วยุโรป ขนรถแทรกเตอร์ออกมาวิ่งบนท้องถนน เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อปัญหามากมายที่ทำให้รายได้ของพวกเขาตกต่ำลง จนกระทบการใช้ชีวิต

  • หนึ่งในปัญหาสำคัญคือ ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น สวนทางกับราคาสินค้าที่ลดลง ทั้งยังต้องแข่งขันกับสินค้านำเข้าที่มีราคาถูกกว่า ซึ่งไม่ต้องเผชิญข้อจำกัดเข้มงวดแบบที่เกษตรกรในยุโรปโดน

  • เกษตรกรยังไม่พอใจนโยบายของสหภาพยุโรป ที่เพิ่มความเข้มงวดในการเพาะปลูก จำกัดการใช้ยาฆ่าแมลง ปุ๋ย และอื่นๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้พวกเขาผลิตสินค้าได้น้อยลง

เกษตรกรขนรถแทรกเตอร์หลายร้อยคันออกมาปิดถนนในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ในวันพฤหัสบดี และปาไข่เข้าใส่อาคารรัฐสภายุโรป ตามรอยการประท้วงของเหล่าชาวไร่ชาวสวนทั่วยุโรปตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ทั้งในกรีซ, เยอรมนี, โปรตุเกส, โปแลนด์ และฝรั่งเศส

ชาวไร่ซึ่งกำลังเผชิญวิกฤติค่าครองชีพ ตัดสินใจออกมาประท้วงเพื่อแสดงความไม่พอใจการเพิกเฉยของภาครัฐบาล โดยปัญหาบางอย่างเช่น แผนเลิกพักภาษีน้ำมันดีเซลในภาคการเกษตรของเยอรมนี หรือ ข้อกำหนดของเนเธอร์แลนด์ ที่ให้เกษตรการลดการปล่อยก๊าซไนโตรเจน เป็นปัญหาเฉพาะถิ่น แต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่เป็นความกังวลระดับทวีป

ปัญหาที่ว่าได้แก่ ราคาสินค้าตกต่ำสวนทางกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น นอกจากนั้นยังต้องเจอกับ การครอบงำขอพ่อค้าปลีกที่ทรงอิทธิพล, หนี้สิน, ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และสินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่มีราคาถูกกว่า โดยที่พวกเขาต้องพึ่งพาระบบเงินอุดหนุน ที่ให้ความสำคัญกับผู้ผลิตรายใหญ่มากกว่าอีก

...

ค่าใช้จ่ายเพิ่ม สวนทางรายได้

ค่าใช้จ่ายของเกษตรกร เช่นค่าพลังงงาน, ปุ๋ย และการขนส่ง เพิ่มสูงขึ้นมากในหลายประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) โดยเฉพาะหลังรัสเซียยกทัพบุกโจมตียูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งทำให้รัฐบาลของหลายประเทศรวมถึงผู้ค้าปลีกต้องเคลื่อนไหวเพื่อลดราคาอาหารที่พุ่งสูง ไม่ให้ลุกลามเป็นวิกฤติค่าครองชีพของผู้บริโภค

แต่ในขณะเดียวกัน ราคาหน้าฟาร์ม ซึ่งเป็นราคาที่ดีที่สุดที่เกษตรกรจะได้จากสินค้าของพวกเขา ลดลงเกือบ 9% ในช่วงระหว่างไตรมาส 3 ของปี 2565 ถึงช่วงเดียวกันของปี 2566 โดยมีสินค้าไม่กี่ประเภทอย่างเช่น น้ำมมะกอก เท่านั้น ที่ราคาเพิ่มขึ้นเพราะสินค้าขาดแคลน

เรื่องสินค้านำเข้าก็กลายเป็นสิ่งที่น่ากังวล โดยเฉพาะในชาติยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก เนื่องจากการไหลทะลักเข้ามาของสินค้าเกษตรราคาถูกจากยูเครน ที่ได้รับการผ่อนผันโควตาจาก EU เพื่อช่วยเหลือหลังถูกรัสเซียโจมตี แต่การทำเช่นนี้กลับทำให้ราคาสินค้าที่ผลิตในประเทศตกต่ำลง และเกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม

ชาวสวนโปแลนด์เป็นกลุ่มแรกที่ออกมาเคลื่อนไหวเมื่อฤดูใบไม้ผลิปีก่อน ด้วยการปิดกั้นถนนที่เชื่อมต่อกับยูเครน ถึงแม้ว่า EU จะมีมาตรการจำกัดสินค้าส่งออกของยูเครนที่จะเข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้านอยู่แล้ว และทันทีที่มาตรการนี้หมดอายุ โปแลนด์, ฮังการี และสโลวาเกีย ก็เริ่มบังคับใช้มาตรการของตัวเอง

สินค้านำเข้าเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ชาวสวนในฝรั่งเศสออกมาประท้วงในสัปดาห์นี้ โดยไม่ใช่แค่สินค้าจากยูเครน แต่ยังรวมถึงนิวซีแลนด์ และชิลี เนื่องจากผู้ผลิตของเหล่านี้ไม่ต้องอยู่ภายในการตรวจสอบเข้มงวดแบบที่ชาวไร่ในสหภาพยุโรปโดน

อากาศเปลี่ยน ร้อนขึ้น แล้งขึ้น

สภาพอากาศสุดขั้วเนื่องจากภาวะความเปลี่ยนแปลงของสภาพาอากาศ กำลังส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้าเกษตรในยุโรปมากขึ้นเรื่อยๆ โดนในตอนนี้ อ่างเก็บน้ำบางแห่งในภาคใต้ของสเปนมีน้ำเหลือแค่ 4% ของความจุดทั้งหมด ขณะที่ไฟป่าในกรีซเมื่อปี 2566 ทำให้พวกเขาสูญเสียรายได้จากการเกษตรประจำปีไปกว่า 20%

จนถึงตอนนี้ ประเทศในภาคใต้ของยุโรปยังไม่เจอกับการประท้วงขนาดใหญ่ของเกษตรกร แต่สถานการณ์อาจเปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสเปน และโปรตุเกส ที่รัฐบาลกำลังพิจารณาบังคับใช้มาตรการจำกัดการใช้น้ำ เนื่องจากเกิดภัยแล้งรุนแรง

นโยบาย CAP ช่วยแต่คนรวย

นโยบายการเกษตรร่วม (Common Agriculture Policy - CAP) เป็นระบบจ่ายเงินอุดหนุนแก่เกษตรกรใน EU ปีละ 5.5 หมื่นล้านยูโร ที่ใช้มานานกว่า 60 ปี แต่นโยบายที่ควรจะปกป้องความเป็นอยู่ของชาวไร่ชาวสวนนี้ กลับเป็นหนึ่งในรากของปัญหาเบื้องหลังการลดลงของฟาร์มขนาดเล็ก

ระหว่างปี 2548-2563 จำนวนฟาร์มขนาดเล็กในสหภาพยุโรปลดลงไปเกือบ 40% ทำให้เกษตรกรรายเล็กกว่า 5.3 ล้านรายต้องเลิกกิจการ ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่ถือครองพื้นที่ไม่ถึง 5 เฮกตาร์ หรือราว 31.25 ไร่

ทั้งนี้เนื่องจาก เงินอุดหนุนที่เกษตรกรจะได้จากนโยบาย CAP นั้น ขึ้นอยู่กับจำนวนที่ดินที่พวกเขาเพราะปลุก มันจึงส่งเสริมให้เกิดการควบรวมที่ดิน สุดท้าย ราว 80% ของงบประมาณสำหรับเกษตรกรของ EU กลับไปตกอยู่ที่ชาวไร่ชาวสวนจำนวน 20% บนยอดพีระมิด ที่มีฟาร์มขนาดใหญ่และร่ำรวยที่สุด

ในช่วงไม่กี่ปีหลังที่โลกเริ่มตื่นตัวเรื่องภาวะโลกร้อนมากขึ้น EU พยายามหาทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตร ด้วยแผนการ ‘farm to fork’ หรือ ‘จากฟาร์มสู่โต๊ะอาหาร’ วางเป้าหมายลดการใช้ยาฆ่าแมลงให้ได้ 50% ภายในปี 2573, ลดการใช้ปุ๋ยลง 20%, สงวนที่ดินเป็นที่ว่างเปล่าเพื่อให้ธรรมชาติฟื้นตัว และเพิ่มปริมาณพืชออร์แกนิกที่ฟาร์มต่างๆ ใน EU ต้องผลิตเป็นเท่าตัวที่ 25% ของผลผลิตทั้งหมด

แค่นโยบายที่มีอยู่เดิมของ EU อย่างเช่นการชลประทาน และสวัสดิภาพสัตว์ ก็ทำให้เกษตรกรมากมายในยุโรปไม่พออยู่แล้ว และพวกเขามองว่า นโยบายสีเขียวที่เพิ่มเข้ามาให้นี้ ไม่เป็นธรรม, ไม่สามารถทำได้จริง, ไม่อาจประสบความสำเร็จได้ในเชิงเศรษฐกิจ และในท้ายที่สุดจะเป็นการทำลายตัวเอง

...

รัฐบาลชาติยุโรปเคลื่อนไหวทันที

การประท้วงของเกษตรกรทำให้รัฐบาลต่างๆ เริ่มเคลื่อนไหวเพื่อแก่ปัญหา เช่น เยอรมนียอมประนีประนอมแผนตัดเงินอุดหนุนน้ำมันดีเซล, ฝรั่งเศสพับแผนขึ้นภาษีน้ำมันดีเซล เลื่อนบังคับใช้นโยบายอื่นๆ และจัดสรรงบประมาณ 150 ล้านดอลลาร์เพื่อช่วยเหลือชาวไร่ชาวสวน ซึ่งส่งผลให้สหภาพเกษตรประกาศให้สมาชิกยุติการประท้วงชั่วคราว

“ทุกที่ในยุโรปมีคำถามเดียวกันถูกหยิบยกขึ้นมา คือ เราจะผลิตมากขึ้นและดีขึ้นได้อย่างไร? เราจะรับมือความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศต่อไปได้อย่างไร? เราจะสามารถหลีกเลี่ยงการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมจากต่างประเทศได้อย่างไร?” นายกาเบรียล อัตตาล นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสกล่าวในวันพฤหัสบดี

ขณะที่ในระดับ EU คณะกรรมาธิการยุโรปเสนอให้จำกัดการนำเข้าสินค้าเกษตรจากยูเครน ที่นำเข้ามาผ่านมาตรการ ‘เบรกฉุกเฉิน’ และออกข้อยกเว้นให้เกษตรกรในชาติสมาชิก EU ไม่ต้องสงวนพื้นที่ 4% เป็นที่ดินเปล่า โดยไม่เสียสิทธิ์รับเงินอุดหนุน

และเนื่องจากการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปกำลังจะมาถึงในเดือนมิถุนายนนี้ พรรคฝ่ายขวาจัดซึ่งคาดว่าจะได้เก้าอี้ในสภาเพิ่มมากขึ้น จึงฉวยจังหวะก้าวเข้ามาเป็นผู้สนับสนุนชาวไร่ชาวนา และมีความเป็นไปได้ที่จะมีการผ่อนปรนข้อบังคับ หรือมาตรการประนีประนอมเพิ่มขึ้นอีก

อย่างไรก็ตาม มีคำถามตามมาว่า การลดมาตรการสีเขียวดีต่อเกษตรกรจริงหรือไม่ เพราะภาวะโลกร้อนกำลังกระทบทุกชีวิตบนโลก โดยเฉพาะตัวชาวไร่ชาวสวนเอง ที่ต้องเผชิญกับภัยแล้งยาวนาน และน้ำท่วมรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา





ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี

ที่มา : the guardianbirdlifepolitico

...