เมื่อพูดถึงริยาด เมืองหลวงของซาอุดีอาระเบีย ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา มีประชากรไม่ถึง 5 แสนคน ขณะที่ปัจจุบันริยาดมีประชากรราว 7 ล้านคนในเมือง ทำให้ริยาดกลายเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของตะวันออกกลาง

ในช่วง 10 ปีมานี้ ริยาดเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผุดโครงการมหาเมกะโปรเจกต์มากมาย โดยบุคคลที่อยู่เบื้องหลังโครงการเหล่านี้ก็คือ เจ้าชาย Mohammed bin Salman (MBS) พระราชโอรสของกษัตริย์ซัลมานเป็นผู้ปกครองคนที่สองของซาอุดีอาระเบีย ที่ต้องการปฏิวัติราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ทำลายความเก่าแก่ทางสังคมและศาสนา เพื่อสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ โดยอาศัยรายได้จากน้ำมันจำนวนมหาศาล

Mukaab สิ่งก่อสร้างรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดมหึมาที่ตั้งอยู่ใจกลางพื้นที่ ด้วยความสูง 400 เมตร และกว้างด้านละ 400 เมตรหนึ่งในโปรเจกต์ล่าสุดภายใต้นโยบาย Vision 2030 ของซาอุดีอาระเบีย ที่เจ้าชายบิน ซัลมาน หวังว่าจะเป็นตัวกระตุ้นที่จะพลิกโฉมให้ริยาดกลายเป็น โมเดิร์น ดาวน์ทาวน์ แห่งใหม่ในตะวันออกกลาง

ด้วยขนาดพื้นที่เกือบ 22 ล้านตารางฟุตหรือประมาณหนึ่งในสามของแมนฮัตตัน Mukaab ถูกออกแบบให้เป็นสถาปัตยกรรมของเทคโนโลยีขั้นสูง ที่รวมเอานวัตกรรมใหม่ล่าสุดที่มีอยู่บนโลกใบนี้เข้ามาใช้ เพื่อให้ผู้คนที่มาเที่ยวชมได้สัมผัสกับประสบการณ์โลกล้ำสมัย แต่ขณะเดียวกันก็ใส่แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนควบคู่ไปด้วย โดยเน้นพื้นที่สีเขียว มีเส้นทางเดินและทางจักรยานโดยรอบ ตอบโจทย์คุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีด้วยไลฟ์สไตล์ที่มีชีวิตชีวา และส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมภายในคอมมูนิตี้แบบครบวงจร

...

ภายใน Mukaab เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ มหาวิทยาลัยด้านเทคโนโลยีและการออกแบบที่ทันสมัย โรงแรมที่พัก ที่อยู่อาศัย และพื้นที่เชิงพาณิชย์ พื้นที่ใช้สอยด้านศิลปวัฒนธรรมและเอนเตอร์เทนเมนต์มากกว่า 80 แห่ง รวมทั้ง Immersive Theatre หรือโรงละครเวทีรูปแบบใหม่ที่คนดูสามารถมีส่วนร่วมกับการแสดงด้วย เรียกว่าเป็นการปลดล็อกศักยภาพของสถาปัตยกรรมยุคใหม่ที่มีความโดดเด่นโดยการรวมเอาที่สุดของเทคโนโลยีมาผสมผสาน เพื่อยกระดับให้ Mukaab เป็นแลนด์มาร์กและจุดหมายปลายทางแห่งใหม่ของโลก โดย เจ้าชาย บิน ซัลมาน คาดหวังให้ริยาดกลายเป็น 1 ใน 10 เมืองที่น่าอยู่ที่สุดของโลกในอนาคตอันใกล้

Hi tech & Hi touch คือ ไลฟ์สไตล์ที่ถูกสร้างขึ้นสำหรับ Mukaab ด้วยการใช้เทคโนโลยี Immersive และเทคนิคโฮโล กราฟิกของการใช้ชีวิตแห่งแรกของโลก คิดง่ายๆ ก็คือ ทำให้ทุกคนที่มาเยือนมีความรู้สึกสมจริงเหมือนกำลังอยู่บนดาวอังคารหรือบางแห่งที่อยู่นอกโลก นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสประสบการณ์ราวกับว่ากำลังดำดิ่งลงไปใต้ทะเลลึก หรือกำลังลอยตัวอยู่เหนือวิวหุบเขา Hallelujah แบบพาโนรามา คล้ายๆกับหนัง Avatar หรือท้องฟ้าจำลองในรูปแบบ VR

ในด้านสิ่งแวดล้อม ซาอุดีอาระเบียกำลังทำให้ริยาดเป็นต้นแบบของเมืองที่มีแนวคิด Green Initiative ที่เกิดขึ้นจากสมการ ว่า การปรับปรุงคุณภาพอากาศเท่ากับการปลูกต้นไม้ ด้วยการตั้งเป้าปลูกต้นไม้มากกว่าหมื่นล้านต้น จากปี 1990 ที่สัดส่วนพื้นดินป่าสีเขียวของซาอุดีอาระเบียอยู่ที่ประมาณ 0.5% สวนทางกับการคาดการณ์ที่ระบุว่าอุณหภูมิในประเทศมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเร็วกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้าจากการปล่อยมลพิษที่มีผลกระทบมากมาย และคาบสมุทรอาหรับอาจไม่เอื้อต่อการอยู่อาศัยภายในสิ้นศตวรรษที่ 21

...

เป้าหมายสำคัญของ Green Initiative คือการเตรียมความพร้อมรับมือกับ Climate change เน้นการใช้พลังงานหมุนเวียน ท่ามกลางภูมิทัศน์ด้านความยั่งยืน ที่ซาอุดีอาระเบียกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นภัยคุกคามทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คาดการณ์ว่ามลพิษทางอากาศจากก๊าซเรือนกระจกจะส่งผลกระทบต่ออายุเฉลี่ยของประชาชนที่มีแนวโน้มลดลงในระยะเวลาหนึ่งปีครึ่ง โดยหนึ่งในภารกิจสำคัญคือการปลูกต้นไม้ให้ได้ 10,000 ล้านต้นภายใน 10 ปีข้างหน้า ซึ่งเทียบเท่ากับการฟื้นฟูแผ่นดินเสื่อมโทรมกว่า 250 ล้านไร่ เพิ่มพื้นที่สีเขียวได้ราว 12 เท่า ซึ่งจะทำให้ซาอุดีอาระเบียมีกลไกการดูดซับคาร์บอนตามธรรมชาติ เพื่อรักษาชีวิตให้ยืนยาวขึ้น

...

การปลูกต้นไม้เป็นแค่เพียงจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเมืองใหม่สำหรับริยาด ยังมีโครงการอื่นๆ ที่สร้างความยั่งยืน เช่น การติดตั้งไฟ LED ที่ประหยัดพลังงานส่องสว่างตามถนนในเมืองหลวง โครงการเดินสายไฟใหม่ซึ่งช่วยประหยัดได้ 5.154 เทราวัตต์ชั่วโมงต่อปี เกษตรกรรมในเมืองที่ใช้ระบบไฮโดรโปนิกส์หรือการปลูกพืชได้โดยปราศจากดิน การรีไซเคิลที่ปัจจุบัน 100% ของขยะในกรุงริยาดถูกนำไปฝังกลบ เป้าหมายคือจะลดลงเหลือ 10% ภายในปี 2573 การวางระบบน้ำเสียใหม่แทนที่ถังบำบัดน้ำเสีย เพื่อนำน้ำรีไซเคิลไปรดต้นไม้ในเมือง และรัฐบาลสนับสนุนถังขยะรีไซเคิลให้กับทุกครัวเรือน

นอกจากนี้ ในอนาคตอันใกล้ ซาอุดีอาระเบียยังมีโครงการเมกกะโปรเจกต์ขนาดใหญ่ อาทิ The Line เมืองปลอดคาร์บอนที่ทอดยาว ข้ามทะเลทรายเป็นระยะทาง 170 กิโลเมตร, Qiddiya สวนสนุกขนาดยักษ์บริเวณชานเมืองริยาดที่กว้างใหญ่เป็นสามเท่าของกรุงปารีส, Trojena สกีรีสอร์ตหรูบนเทือกเขา Tabouk ซึ่งคาดว่าจะเป็นเจ้าภาพการแข่งขัน Asian Winter Games ในปี 2572

จุดเปลี่ยนและความสำเร็จของซาอุดีอาระเบียในการพลิกโฉมประเทศครั้งนี้ แน่นอนว่าไม่ใช่การใช้เทคโนโลยีเป็นตัวหลัก แต่เป็นการขับเคลื่อนด้วยผู้คน ซึ่งซาอุดีอาระเบียมีข้อได้เปรียบที่ชัดเจนจากสัดส่วนโครงสร้างประชากรที่ 35% ของประชากรซาอุดีอาระเบีย มีอายุระหว่าง 14-35 ปี และพวกเขาต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงของเมือง โดยทรานส์ฟอร์มแนวคิดการพลิกผืนทรายบนวิถีของความยั่งยืนด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ.

คลิกอ่านคอลัมน์ “THE NEW NORMAL” เพิ่มเติม