ประมาณ 5-6 ปี ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะเปิดฉากอย่างเป็นทางการนั้น ถือเป็นช่วงที่สถานการณ์โลกมีความวุ่นวายอย่างหนัก ทั้งฟากยุโรปและฟากเอเชีย เยอรมนีไล่ผนวกดินแดนเพื่อนบ้าน อิตาลีล่าอาณานิคมในแอฟริกา ญี่ปุ่นใช้เกาหลีใต้เป็นฐานรุกคืบเข้าไปในจีน
และเอาเข้าจริงก็ไม่ต่างอะไรกับสถานการณ์ ณ เพลานี้ ที่ไฟสงครามกำลังลุกลามไปทุกหย่อมหญ้า ไม่ว่าจะเป็นสงครามยูเครน-รัสเซีย สงครามอิสราเอล-ฉนวนกาซา-กลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ ที่ดูเหมือนอาจขยายวงไปถึงสหรัฐฯ-อิหร่าน ไปจนถึงความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี และความตึงเครียดข้ามช่องแคบไต้หวัน
ในช่วงมหาสงครามเมื่อกว่า 85 ปีก่อน ถือเป็นตัวอย่างความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของกลไกสากล “องค์การสันนิบาตชาติ” อยู่ในสภาพง่อยเปลี้ย ไม่สามารถยับยั้งอะไรได้ ทำให้หลายประเทศมีความพยายามหารือแบบทวิภาคี จับคู่กันเองหวังหาทางออก หรือสร้างเครือข่ายพันธมิตรไว้คานอำนาจกันและกัน
เหมือนกับปัจจุบันนี้ที่ทายาทของสันนิบาตชาตินามว่า “องค์การสหประชาชาติ” ถูกลดความสำคัญลงอย่างต่อเนื่อง เข้าช่วยคลี่คลายสถานการณ์ รักษาความสงบได้แค่ประเทศที่ประชาคมโลกหลงลืม
ไม่มีความสามารถอันใดที่จะไปเรียกสติเหล่าชาติทรงอิทธิพลให้ยับยั้งชั่งใจ “กลไกคณะมนตรีความมั่นคง” กลายเป็นสิ่งไร้ประโยชน์ เนื่องจากประเทศที่ถือครองสิทธิ์ขาด ได้กลายเป็นคู่ขัดแย้งกันเอง และทำให้มีการจัดตั้งกลุ่มความร่วมมือต่างๆ ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด ไม่ว่าจะเป็นออกัส ควอด บริกส์
คำว่าสงคราม หรือ WAR ถือเป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่งและไม่มีใครอยากประสบพบเจอ แต่แน่นอนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ หลายฝ่ายเริ่มเอ่ยถึงสงครามโดยไม่มีความกระอัก กระอ่วน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วคือสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยงอย่างถึงที่สุด
...
เพราะในทางหนึ่งสามารถมองได้ว่าคือการแสดงเจตจำนงที่จะประหัตประหารคนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามอย่างชัดเจน และย่อมทำให้คู่ขัดแย้งไม่สามารถนิ่งเฉยดูดาย แน่นอนว่าภาษาการเมืองอาจดัดแปลงคำดังกล่าว ไม่ได้ใช้คำว่า “สงคราม” โดยตรง สลับสับเปลี่ยนเป็นภาษาสวยหรูเป็น “เตรียมเข้าสู่ความขัดแย้ง” หรือ “เตรียมตัวที่จะเป็นคู่อริกัน” แต่สุดท้ายปลายทางย่อมจบลงที่เดียวกัน
จากปัจจัยเหล่านี้เอง คงไม่แปลกเท่าไรนักที่จะตั้งคำถามว่า ในเมื่อสถานการณ์โลกในวันนั้นไม่ได้ต่างอะไรกับวันนี้ ดังนั้นเส้นทางที่ประชาคมโลกกำลังก้าวเดินไป คือเส้นทางสู่มหาสงครามอันน่าสะพรึงกลัว?
ตุ๊ ปากเกร็ด
คลิกอ่านคอลัมน์ "หน้าต่างโลก" เพิ่มเติม