กลายเป็นความขัดแย้งครั้งใหม่ในพื้นที่รอยต่อภูมิภาคตะวันออกกลางกับเอเชียใต้ หลังช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา กองทัพอิหร่านได้ปฏิบัติการโจมตีเข้าไปในดินแดนของปากีสถาน

ใช้โดรนฆ่าตัวตายและขีปนาวุธที่มีความแม่นยำสูงยิงถล่มฐานที่มั่นของกลุ่มก่อการร้ายปลดแอก “เยช อัล–อัดล์” (กองทัพแห่งความยุติธรรม) ที่ซ่องสุมกำลัง เคลื่อนไหวข้ามพรมแดนอิหร่าน-ปากีสถาน ในพื้นที่ที่เรียกว่า “บาลูจิสถาน” (แปลได้ว่าดินแดนของชาวบาลูจ) มีอาณาบริเวณครอบคลุมภาคตะวันออกเฉียงใต้ของอิหร่าน ภาคตะวันตกของปากีสถาน ภาคใต้ของอัฟกานิสถาน

ส่งผลให้ 1 วันต่อมา กองทัพปากีสถานไม่นิ่งเฉย ตัดสินใจปฏิบัติการโจมตีทางอากาศตอบโต้เข้าไปในดินแดนของอิหร่านทันที ด้วยเหตุผลว่าเป็นการละเมิดน่านฟ้า เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายซึ่งจะมีผลลัพธ์ตามมา ก่อนที่ทั้งสองประเทศจะประกาศเรียกตัวเอกอัครราชทูตกลับประเทศ พร้อมสั่งระงับการเยือนระดับสูงชั่วคราว

เหตุการณ์โจมตีใส่กันและกันแบบกะทันหันดังกล่าวมีขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิภาคที่กำลังตึงเครียดอย่างหนัก ไล่เป็นลำดับตั้งแต่ไฟสงครามอิสราเอล-ฉนวนกาซา ซึ่งส่งผลให้กลุ่มการเมืองฮูตีในเยเมนเลือกอยู่ข้างชาวปาเลสไตน์และยิงโจมตีเรือสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอิสราเอลและชาติตะวันตกที่สนับสนุนอิสราเอล และนำไปสู่ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศต่อเยเมนของกองทัพสหรัฐฯ-อังกฤษ

ไปจนถึงสถานการณ์คุกรุ่นในเลบานอน– ซีเรีย ที่อิสราเอล–กลุ่มฮิซบอลเลาะห์–อิหร่าน กำลังทำศึกแบบกึ่งใต้ดินผลัดกันรุกรับยิงโจมตี ตามด้วยการที่กองทัพอิหร่านยิงขีปนาวุธสังหารหน่วยข่าวกรองอิสราเอลในอิรัก จนกลายเป็นคำถามสำคัญว่า เหตุความขัดแย้งข้ามพรมแดนอิหร่าน–ปากีสถานครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งในภาพรวมของไฟสงครามตะวันออกกลางหรือไม่?

...

ทั้งนี้ นับเป็นเวลาหลายทศวรรษแล้วที่กลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่าชาวบาลูจในดินแดนอิหร่าน-ปากีสถาน-อัฟกานิสถาน ได้พยายามเรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเอง อ้างว่าชาวบ้านในพื้นที่ไม่ได้รับประโยชน์แต่อย่างใด ทั้งที่อยู่อาศัยในดินแดนที่เต็มไปด้วยทรัพยากรและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งแน่นอนว่าเสียงเรียกร้องที่ถูกเมินเฉยจึงนำไปสู่การตัดสินใจจับอาวุธขึ้นต่อสู้ และพัฒนากลายไปเป็นกองกำลังติดอาวุธกลุ่มต่างๆ

ไม่ว่าจะเป็นกองกำลังที่มีชื่อเรียกขานต่างๆ นานา ทั้งกองกำลังจุนดัลเลาะห์ กองกำลังปลดปล่อยบาลูจิสถานบีแอลเอ หรือกลุ่ม “เยช อัล–อัดล์” คู่กรณีครั้งนี้ โดยรูปแบบของปฏิบัติการต่อสู้ก็มีสภาพไม่ต่างกับกลุ่มก่อการร้ายสากล ดำเนินการลอบสังหารนักการเมือง จุดชนวนระเบิดฆ่าตัวตาย ซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงที่ออกลาดตระเวนรักษาความสงบในพื้นที่ จนทำให้หลายประเทศรวมชาติตะวันตกอย่างสหรัฐฯและอังกฤษ ไปจนถึงชาติที่ถูกโจมตีก่อความวุ่นวายขึ้นทะเบียนเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่ต้องจัดการให้สิ้นซาก

อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามแหล่งข่าวในรัฐบาลคู่ขัดแย้ง ทำให้พบสัญญาณที่น่าสนใจว่า เรื่องนี้มีมุมเชิงลึกกว่าภาพปรากฏการณ์ในพื้นที่ข่าว โดยประเด็นหลักสำคัญคือกลุ่มก่อการร้ายในปากีสถานที่อิหร่านยิงถล่ม และกลุ่มก่อการร้ายในอิหร่านที่ปากีสถานยิงถล่มต่างมีที่มาของเงินทุนจากแหล่งเดียวกันคือหน่วยงานข่าวกรองของประเทศ “มือที่สาม” ซึ่งมีความเชี่ยวชาญพิเศษในการสร้างกองกำลังติดอาวุธแบ่งแยกดินแดนมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น

เพียงแต่การเข้าปราบปรามกลุ่มเหล่านี้ในดินแดนของตัวเองถือเป็นเรื่องที่ขยับตัวลำบากนัก หากประเทศคู่กรณี A ทำการโจมตีในดินแดนของตัวเองก็จะถูกเอาไปใช้ปั่นกระแสว่าประเทศไม่เป็นปึกแผ่น เกิดปัญหาความวุ่นวายภายในที่จัดการไม่ได้ รัฐบาลถูกดิสเครดิตเพิ่มเติม จนอาจทำให้กลุ่มอื่นๆเหิมเกริมได้ใจเตรียมก่อความวุ่นวายขึ้นอีก ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งกำลังเกิดขึ้นรอบภูมิภาค

ในขณะเดียวกัน ทางประเทศ B ก็มีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศมือที่สาม การจะไปจัดการใดๆย่อมอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลหรือเลวร้ายกว่านั้น ด้วยปัจจัยเหล่านี้เองจึงได้กลายเป็นเกมการเมืองที่เหนือชั้น ประเทศ A ถล่มให้ประเทศ B และประเทศ B ถล่มให้ประเทศ A แลกเปลี่ยนกัน เพราะเรื่องนี้มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า กองทัพของแต่ละประเทศเลือกที่จะ “ปิดระบบต่อต้านอากาศยาน” ปล่อยให้อีกฝ่ายดำเนินการได้อย่างเต็มที่ ไม่มีการยิงสกัดกั้นแต่อย่างใด

และยังเห็นได้ชัดว่าเป็นการ “ยั้งกระบี่ไว้ไมตรี” โดยระหว่างที่มีการประกาศถอนทูต ระงับการเยือนระดับสูงระหว่างกัน ก็ยังคงเน้นย้ำอยู่ดีว่าความสัมพันธ์ของสองเราคือ “เพื่อนและพี่น้อง” ขณะที่มีรายงานว่าการซ้อมรบร่วมทางทะเลยังคงดำเนินไปตามปกติ ทหารเรือสองฝ่ายกอดคอกันกลมเกลียว

ยิ่งไปกว่านั้น การผลัดโจมตีใส่กันครั้งนี้ ผลประโยชน์ไม่ได้ตกอยู่ที่สองประเทศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงรัฐบาลจีนด้วยเช่นกัน เนื่องจากกลุ่มติดอาวุธในดินแดนบาลูจิสถานถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้โครงการแถบและเส้นทาง “เบลต์ แอนด์ โรด” ชะลอตัว โดยเฉพาะคอร์ริดอร์การก่อสร้างเส้นทางสินค้าเชื่อมต่อจากอัฟกานิสถานตัดผ่านแคว้นบาลูจิสถานลงสู่ทะเลอาระเบีย

จากเหตุผลเหล่านี้จึงพอที่จะตั้งข้อสงสัยได้หรือไม่ว่า เหตุการณ์สาดอาวุธใส่กันเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นเพียงการสับขาหลอกให้เข้าใจกันไปว่าความขัดแย้งรอบใหม่ได้ปะทุขึ้น แต่เอาเข้าจริงแล้วเป็นการเดินเกมการเมืองฉากใหญ่อันแยบยลที่สร้างประโยชน์แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง.

...

วีรพจน์ อินทรพันธ์

คลิกอ่านคอลัมน์ "7 วันรอบโลก" เพิ่มเติม