ผมมีโอกาสไปอินโดนีเซีย โดยเฉพาะกรุงจาการ์ตา เป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.2558 เกือบ 10 ปีมาแล้ว––ถ้าจำไม่ผิดน่าจะหลังจากการขึ้นประธานาธิบดี โจโก วิโดโด สัก 5–6 เดือนเห็นจะได้

ช่วงนั้นจาการ์ตา ซึ่งมีประชากรกว่า 10 ล้านคน ยังดูครึ้มๆเหมือนเมืองในหมอก น่าจะเพราะว่ามีฝุ่นพิษค่อนข้างสูง และรถราติดขัดมาก จะไปไหนทีต้องเผื่อเวลาเป็นชั่วโมง

ตึกสูงๆเริ่มโผล่ขึ้นมาบ้าง แต่ก็ยังไม่มากนัก รอบๆจาการ์ตายังเป็นตึกเก่าๆบ้านเก่าๆเป็นส่วนใหญ่

แต่ ณ วันที่ 11 มกราคม 2567 หรือ 2024 ที่ผมกลับไปจาการ์ตาอีกครั้ง ก็อดไม่ได้ที่จะอุทานอย่างที่ผมตั้งชื่อคอลัมน์ฉบับเมื่อวาน “วันนี้ วันนั้น ต่างกันลิบลับ” นั่นแหละครับ

จาการ์ตามีตึกสูงระฟ้าโผล่ขึ้นราวกับดอกเห็ด มีถนนสายใหม่ที่บูรณะเสร็จแล้วหลายสาย

รถราแม้จะยังเยอะอยู่และยังติดขัดพอๆกับ 10 ปีก่อนในบางห้วงเวลา แต่ก็ดูจะติดอย่างมีความหวังมากขึ้น

เป็นความรู้สึกที่สัมผัสได้ผ่านสายตาของผมว่าเศรษฐกิจของอินโดนีเซียน่าจะบูมขึ้นมาจริงๆอย่างที่เล่าลือกัน

วันผมไปเมืองยอกยาการ์ตา ที่อยู่อีกฟากหนึ่งของเกาะชวา ก็ต้องอุทานเช่นกัน เพราะสนามบินใหม่ของเมืองที่ว่านี้เพิ่งจะแล้วเสร็จและใหญ่โตมโหฬาร มิใช่เล่น เพียงแต่อยู่ไกลจากตัวเมืองไปหน่อยเท่านั้นเอง

เมื่อลองไปเปิดตัวเลขของเขาดูก็พบว่าอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเขา เมื่อปี 2023 ที่ผ่านไป อยู่ที่ 5.0 เปอร์เซ็นต์กว่าๆ ทั้งที่เขาวัดเองและจากการประเมินของไอเอ็มเอฟและธนาคารโลก

ลดลงจากร้อยละ 5.3 เมื่อปี 2022 เล็กน้อย แต่ก็ยังสูงกว่าปี 2021 ที่เพิ่มในอัตราร้อยละ 3.7 และแน่นอน ปี 2020 ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เต็มๆได้ร่วงลงไปสู่ระดับติดลบถึง 2.1 เปอร์เซ็นต์

...

แต่ดูเหมือนผู้คนส่วนใหญ่จะพอใจกับอัตราร้อยละ 5 ของปีนี้ และที่รัฐบาลคาดว่าจะยังคงร้อยละ 5 ต่อไปอีกหลายๆปี

สำหรับมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือจีดีพีคิดตามอำนาจซื้อล่าสุดของเขาจะอยู่ที่ 3,995 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปี (อันดับที่ 7 ของโลก) มากกว่าของเราซึ่งอยู่ที่ 1,591 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปี (เป็นอันดับที่ 30 ของโลก) อยู่พอสมควร

แต่รายได้ต่อหัวของเขาจะอยู่ที่ 14,535 เหรียญต่อปี เพราะต้องหารด้วยประชากรที่มีมากกว่า 270 ล้านคน ถือเป็นอันดับที่ 96 ของโลก จัดอยู่ในระดับประเทศรายได้ปานกลางขั้นตํ่า

ยังแพ้เราที่มีรายได้ต่อหัว 22,675 เหรียญสหรัฐฯต่อปี เป็นอันดับ 74 ของโลก และอยู่ในระดับประเทศรายได้ปานกลางขั้นสูงว่างั้นเถอะ

แต่ใครจะก้าวขึ้นสู่ประเทศระดับรายได้สูงขั้นต้นก่อนกันคงต้องลุ้นต่อไป? ผมจำไม่ได้ว่าเราตั้งเป้าไว้เมื่อไร แต่ของอิเหนาเขาตั้งเป้าไว้ที่ปี 2045 ครับ

ทั้งในระดับความเจริญที่เห็นด้วยสายตา และการเติบโตของจีดีพีดังกล่าวนี้ ว่ากันว่าเป็นฝีมือของประธานาธิบดี โจโก วิโดโด โดยตรง ที่ระดมการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานอย่างขนานใหญ่ นับตั้งแต่ท่านขึ้นมาดำรงตำแหน่ง อาทิ ท่าเรือ สนามบิน โรงไฟฟ้า เขื่อน ถนน และทางรถไฟ ฯลฯ

รวมทั้งโครงการสร้างเมืองหลวงใหม่ ที่เกาะ กาลิมันตัน อภิมหาโครงการ ซึ่งเพิ่งจะเริ่มต้นและต้องการการสานต่อ

ถ้าเราไปดูรายละเอียดในที่มาที่ไปของ ผลิตภัณฑ์มวลรวม จะพบว่าส่วนใหญ่มาจากการบริโภคของประชาชน ซึ่งมีถึง 270 กว่าล้านคน และการลงทุนภาครัฐที่ค่อนข้างมโหฬารดังกล่าว ตามมาด้วยการลงทุนจากต่างประเทศ และรายได้จากการส่งออกที่แม้จะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกบ้าง แต่ก็ยังไปได้

หลายๆคนจึงตั้งคำถามเหมือนๆกันว่า ถ้าประธานาธิบดี โจโก วิโดโด ไม่อยู่แล้ว คนใหม่จะมาสานต่อไหม? จีดีพีจะขยายต่อไหม?

ขออนุญาตเกริ่นไว้คุยต่อในเรื่องการเมือง โดยเฉพาะการเลือกตั้งประธานาธิบดีของเขาที่กำลังจะมาถึง 14 กุมภาพันธ์ วันวาเลนไทน์เดือนหน้าก็แล้วกัน

วันนี้คัดลอกตัวเลขเศรษฐกิจของเขามาฝากกันก่อน...อาจจะอ่านแล้วมึนๆไปบ้างก็ต้องขออภัยด้วย เพราะถ้าจะเขียนถึงเรื่องเศรษฐกิจให้เห็นชัดๆก็หนีไม่พ้นเรื่องตัวเลขขยุกขยุยแบบนี้แหละครับ.

“ซูม”

คลิกอ่านคอลัมน์ "เหะหะพาที" เพิ่มเติม