เมื่อเร็วๆนี้ ทีมวิจัยนานาชาตินำโดยผู้เชี่ยว ชาญจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในอังกฤษ มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ในเดนมาร์ก และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ สหรัฐอเมริกา ได้ลำดับดีเอ็นเอจากคนโบราณ 1,664 คน จากสถานที่ต่างๆ ทั่วยุโรปตะวันตกและเอเชีย โดยนำข้อมูลทางพันธุกรรมหรือจีโนมโบราณเหล่านี้ไปเปรียบเทียบกับดีเอ็นเอของคนในยุคปัจจุบันจากคลังข้อมูลชีวภาพของสหราชอาณาจักร (UK Biobank)

ทีมเผยว่า อายุของกระดูกและฟันที่นำมาสกัดดีเอ็นเอมีตั้งแต่ยุคหินกลาง ยุคหินใหม่ ไปจนถึงยุคสัมฤทธิ์ ยุคเหล็ก และยุคไวกิ้ง ไปจนถึงยุคกลาง ทว่าจีโนมที่เก่าแก่ที่สุดในชุดข้อมูลมาจากบุคคลที่มีชีวิตอยู่เมื่อ 34,000 ปีก่อน ซึ่งได้ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับต้นกำเนิดของโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) หรือโรคเอ็มเอส (MS) ที่ส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางการมองเห็น การเคลื่อนไหว การรับความรู้สึก ทีมระบุว่าแถบยุโรปเหนือมีความชุกของโรคเอ็มเอสมากที่สุดในโลก การศึกษาใหม่นี้พบว่ายีนที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเอ็มเอสถูกนำเข้าสู่ยุโรปตะวันตกเฉียงเหนือเมื่อราว 5,000 ปีก่อน ตรงกับช่วงเริ่มต้นของยุคสัมฤทธิ์ โดยชาวยัมนายา (Yamnaya) ที่เลี้ยงแกะและวัวได้อพยพจากทางตะวันออกคือรัสเซียตอนใต้และยูเครนในปัจจุบัน มายังยุโรปตะวันตก

...

ในเวลานั้นชาวยัมนายามีลักษณะทางพันธุกรรมที่มีประโยชน์ ป้องกันการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้นจากแกะและวัวที่เลี้ยงไว้ แต่การติดเชื้อก่อโรคมีความถี่เพิ่มขึ้นในช่วงยุคสัมฤทธิ์เพราะความใกล้ชิดระหว่างคนกับสัตว์เลี้ยง ตลอดจนความหนาแน่นของประชากรที่เพิ่มขึ้น พอมายุคปัจจุบันด้วยการสุขาภิบาลและการดูแลรักษาทางการแพทย์ที่แพร่หลาย ความแปรปรวนทางพันธุกรรมเหล่านี้มีมากเกินไปต่อความต้องการทางภูมิคุ้มกันของผู้คน ส่งผลให้ความเสี่ยงในการเกิดโรคเอ็มเอสและโรคแพ้ภูมิตนเองอื่นๆเพิ่มขึ้น.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่