“น้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติก” เป็นสินค้ายอดนิยมที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวัน นอกจากความสะดวกสบายในการหาซื้อและพกพาตามวิถีชีวิตในยุคปัจจุบัน ยังถูกโฆษณาประชาสัมพันธ์ว่า มีความสะอาดปลอดภัย ไร้สารเคมีตกค้าง ดีต่อสุขภาพ รวมทั้งความเชื่อฝังลึกที่ว่าเป็นทางเลือกที่ “ปลอดภัยกว่า” น้ำที่ออกมาจาก “ก๊อก”

ทว่าการศึกษาวิจัยครั้งใหม่ โดยทีมนักวิทยาศาสตร์จาก มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในนครนิวยอร์ก และ มหาวิทยาลัยรัตเกอร์ส แห่งรัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences เผยผลสุดช็อก ชี้ให้เห็นว่าน้ำดื่มบรรจุขวดส่งผลเลวร้ายต่อมนุษย์มากกว่าวิกฤติขยะพลาสติกล้นโลกมากนัก การดื่มน้ำจากขวดพลาสติกอาจเป็นการลำเลียงมลพิษจากพลาสติกขนาดเล็กจิ๋วเข้าสู่ร่างกาย

ที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์พยายามกระตุ้นเตือนถึงอันตรายจากการแพร่กระจายไปทั่วโลกของ “ไมโครพลาสติก” หรืออนุภาคพลาสติกที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 100 นาโนเมตร-5 มิลลิเมตร หลังจากค้นพบไมโครพลาสติกบนที่ห่างไกลอย่างบนยอดเขาเอเวอเรสต์ รวมถึงใน ร่องลึกมหาสมุทรที่ลึกสุดในโลก

ขณะที่การศึกษาครั้งนี้ใช้เทคโนโลยีเลเซอร์ที่พัฒนาขึ้นใหม่ล่าสุดคิดค้นโดยนักชีวฟิสิกส์ชาวโคลอมเบีย ทำให้สามารถตรวจพบได้ว่าในน้ำดื่มบรรจุขวด 1 ลิตร มีชิ้นส่วน “นาโนพลาสติก” หรืออนุภาคพลาสติกขนาดเล็กที่เป็นผลมาจากการกำจัดขยะพลาสติก มีเส้นผ่า ศูนย์กลางตั้งแต่ 1 นาโนเมตร-1 ไมโครเมตร พูดง่ายๆว่ามีขนาดเล็กกว่าไมโครพลาสติกเสียอีก เป็นจำนวนมากถึงประมาณ 240,000 ชิ้น

ด้วยขนาดเล็กสุดขีด นาโนพลาสติกจึงสามารถเคลื่อนผ่านลำไส้และปอดเข้าสู่กระแสเลือดได้ รวมทั้งเข้าไปสะสมอยู่ในกล้ามเนื้อหัวใจ และอวัยวะอื่นๆ อย่างเช่นในสมอง และแม้แต่เข้าไปในร่างกายของทารกในครรภ์ผ่านรก เพิ่มความ เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งและส่งผลกระทบต่ออวัยวะสำคัญ เช่น ไต ตับ หัวใจ ระบบสืบพันธุ์ และระบบประสาท นอกจากนี้ยังสามารถสะสมผ่านห่วงโซ่อาหารได้อีกด้วย เป็นภัยอันตรายรอบด้าน

...

ทั้งนี้ นักวิจัยย้ำว่าไม่ได้ต่อต้านการดื่มน้ำขวด แต่แนะให้มองหาทางเลือกอื่นเช่น ดื่มน้ำประปา ส่วนสิ่งที่เราทำได้ก็คือดูแลสุขภาพ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และหมั่นออกกำลังกาย คงช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้กระมัง.

อมรดา พงศ์อุทัย

คลิกอ่านคอลัมน์ "หน้าต่างโลก" เพิ่มเติม