กลายเป็นคำถามด้านมาตรการความปลอดภัย ที่สร้างความกังวลแก่ผู้ใช้บริการสายการบินทั่วโลก หลังเกิดเหตุระทึกบนเครื่องบินโดยสารรุ่นโบอิ้ง 737 MAX 9 ในสหรัฐฯ ประตูฉุกเฉินที่ถูกปิดตายได้หลุดกระเด็นออกจากตัวเครื่องขณะบินอยู่บนฟ้า สร้างความขวัญผวาแก่ผู้โดยสารในห้องเคบินเป็นจำนวนมาก เมื่อวันที่ 5 ม.ค. ที่ผ่านมา และส่งผลให้สายการบินต่างๆสั่งระงับใช้งานเครื่องรุ่นดังกล่าว
ทั้งนี้ สายการบินอลาสกา แอร์ไลน์ ผู้ให้บริการเที่ยวบิน 1282 ลำเกิดเหตุ ได้เปิดเผยความคืบหน้าเมื่อวันที่ 9 ม.ค.ว่า ทางบริษัทอยู่ระหว่างรอเอกสารอย่างเป็นทางการจากบริษัทโบอิ้ง ผู้ผลิต เครื่องบิน และองค์การบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ (FAA) เพื่อเริ่มกระบวนการตรวจสอบทางเทคนิคอย่างละเอียดว่าเครื่องบินโบอิ้ง 737 MAX 9 มีข้อบกพร่องอะไรหรือไม่
อย่างไรก็ตาม สายการบินอลาสกา แอร์ไลน์ส ได้ยอมรับด้วยว่า ช่างเทคนิคที่เข้าตรวจสอบเครื่องบินรุ่น 737 MAX 9 ที่ถูกสั่งระงับให้บริการ ได้ค้นพบว่าเครื่องบินรุ่นดังกล่าวบางลำมีปัญหาเรื่อง “ชิ้นส่วนหลวม” และบางลำก็หลวมในส่วนที่มีความจำเป็น
ขณะที่สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานขยายผลเรื่องนี้ว่า จากการสอบถามแหล่งข่าวภายในสายการบินยูไนเต็ด แอร์ไลน์ส ที่สั่งระงับการใช้งานเครื่อง 737 MAX 9 เป็นจำนวน 79 ลำ พบว่า การตรวจสอบของช่างเทคนิคเบื้องต้นเจอปัญหา “นอตหลวม” ในเครื่องบินแล้วอย่างน้อย 10 ลำ อย่างไรก็ตาม ทีมที่ตรวจสอบเครื่องบินลำเกิดเหตุของสายการบินอลาสกา แอร์ไลน์ส ยังไม่ขอยืนยันว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ประตูฉุกเฉินหลุดจากตัวเครื่อง แต่ระบุว่า ชิ้นส่วนที่กระเด็นหลุดไปถูกยึดไว้ด้วยนอตหลัก 4 ตัว และนอตรองอีก 12 ตัว
ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่สหรัฐฯได้ค้นพบประตูฉุกเฉินที่หลุดจากตัวเครื่อง โดยตกอยู่ที่บริเวณหลังบ้านของคุณครูประจำโรงเรียนในชุมชนซีดาร์ฮิลส์ เมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน ส่วนการตรวจสอบกล่องดำบนเครื่องกลับพบว่าเป็นกล่องดำที่มีข้อมูลความจำแบบระยะสั้น ซึ่งทำให้ข้อมูลในช่วงวันเวลาเกิดเหตุได้ถูกข้อมูลใหม่เขียนทับไปแล้ว และคณะกรรมาธิการด้านความปลอดภัยของสหรัฐฯ ได้เรียกร้องให้มีการแก้ไขข้อบังคับเสียใหม่ ให้เปลี่ยนจากกล่องดำที่มีความจำขั้นต่ำ 2 ชั่วโมง เป็นความจำ 25 ชั่วโมง.
...
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่