รายงานจาก ศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ในปี 2566 มีภัยพิบัติทางสภาพอากาศหรือภูมิอากาศ 25 ครั้ง ทำให้ก่อเกิดความสูญเสียอย่างน้อย 1,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 34,000 ล้านบาท มีผู้เสียชีวิต 482 ราย โดยพายุเฮอริเคนอิดาเลียและไฟป่าบนเกาะเมาอิ รัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา ถือเป็นภัยพิบัติทางสภาพอากาศที่โดดเด่นสุดในสหรัฐฯ ในปี 2566
การแก้ปัญหาภัยธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องใช้เวลานาน การคิดค้นหาวิธีรับมือก็จำเป็นอย่างยิ่ง หนึ่งในแนวทางก็คือการ ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ (Arti ficial intelligence-AI) ที่สามารถประมวลผลข้อมูลอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งเป็นเวลาหลายปีแล้วที่นักวิทยาศาสตร์ใช้แบบจำลองการทำนายสภาพภูมิอากาศตามกฎของฟิสิกส์และเคมีเป็นส่วนใหญ่มาใช้พยากรณ์รูปแบบสภาพอากาศ
เมื่อเร็วๆนี้ ศาสตราจารย์ออรูป แกงกูลี จากภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนอร์ทอีสเทิร์น ในนครบอสตัน รัฐแมสซาชูเสตต์ สหรัฐฯ มองว่า ในปี 2567 เอไอควรมีบทบาทมากขึ้นในการพยากรณ์เหตุการณ์และช่วยปกป้องสภาพอากาศ เจ้าตัวกล่าวว่า “ในอีก 12 เดือนข้างหน้า เราจะได้เห็นความพยายามมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ระบบจะขับเคลื่อนด้วยข้อมูลและเอไอมารวมกัน”
ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้มีการพัฒนาแบบจำลองแบบไฮบริดใหม่ๆ ที่คำนึงถึงการเรียนรู้ ของเครื่องคอมพิวเตอร์และเครื่องมือปัญญาประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์อื่นๆ และในทางกลับกัน แบบจำลองเหล่านี้ได้ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศสร้างระบบที่แม่นยำยิ่งขึ้น เพื่อช่วยให้คาดการณ์และเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติในอนาคตได้ดีกว่าเดิม
อีกสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์จับจ้องก็คือ กฎระเบียบเพิ่มเติมของรัฐบาลสหรัฐฯ เกี่ยวกับเรื่องเอไอว่าจะยังคงได้รับการปรับปรุงต่อไปใน 2567 อย่างไร เพราะเมื่อปีที่ผ่านมานายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ลงนามคำสั่งบริหารมุ่งเป้าสร้างมาตรฐานความปลอดภัยเกี่ยวกับเอไอ...ซึ่งภาพรวมด้านกฎระเบียบและรูปแบบของนโยบายที่จะเกิดขึ้นในสหรัฐฯ จะออกมาเป็นอย่างไรนั้น เป็นเรื่องที่ท้าทายและห้ามกะพริบตา.
...
ภัค เศารยะ
คลิกอ่านคอลัมน์ "หน้าต่างโลก" เพิ่มเติม