เรื่องราวที่ติดอันดับข่าวใน “แวดวงอวกาศของปี 2566” ก็ต้องยกให้เรื่องของ “ดวงจันทร์ ดาวเคราะห์น้อย และการยิงจรวดนำส่งยานอวกาศขึ้นสู่วงโคจร” ที่เด่นๆก็ยังเป็นโครงการทั้งหลายทั้งปวงของ “สเปซเอ็กซ์” (SpaceX) บริษัทเอกชนทางด้านธุรกิจการขนส่งทางอวกาศในสหรัฐอเมริกา ที่ก่อตั้งโดยอภิมหาเศรษฐี อีลอน มัสก์ ได้ทดสอบการยิงจรวดอยู่หลายครั้ง ขณะที่ องค์การอวกาศอินเดีย ก็ส่ง จันทรายาน-3 (Chandrayaan-3) ยานอวกาศไร้คนขับไปจอดบนดวงจันทร์สำเร็จ ส่วน องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือนาซา มุ่งมั่นที่จะนำ 4 นักบินอวกาศ กลับไปเหยียบดวงจันทร์อีกครั้งก็ได้เปิดตัว 4 นักบินผู้ท้าฝันไปเป็นที่เรียบร้อย

ล่วงเข้าสู่ปี “มังกร 2567” เดาไม่ยากว่าหลายสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปีนี้จะเป็นงานสานต่อภารกิจจากปีก่อนๆ เพราะว่ากันตามตรงก็ต้องมองย้อนกลับไปในปี 2565 ขณะที่โลกจะยังอยู่กับการระบาดของโควิด-19 เผชิญหายนะทางเศรษฐกิจ แต่การลงทุนในภาคเทคโนโลยีอวกาศกลับแสดงสัญญาณการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง เทคโนโลยีอวกาศทำให้ปรากฏเห็นถึงความยืดหยุ่นที่โดดเด่น แม้จะมีความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจมหภาค ก็ยังมีการลงทุนประมาณ 4,800 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 167,000 ล้านบาทในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอวกาศ ทั้งยังรับรู้ได้ว่าประเทศต่างๆทั่วโลกได้ตระหนักถึงอนาคตของเศรษฐกิจอวกาศ หลายชาติกำลังดำเนินการเพื่อช่วงชิงโอกาส สร้างความแข็งแกร่ง เพื่อบรรลุตำแหน่งและหาที่ทางของตนในการแข่งขันด้านอวกาศระดับโลก

...

สิ่งที่เกิดขึ้นล้วนสอดคล้องกับความก้าวหน้าในการเปลี่ยนแปลงหลายประการในปี 2566 ซึ่งได้วางรากฐานการพัฒนาอันน่าตื่นเต้นสู่ปี 2567

หากมองว่าใครจะเป็น “ตัวทำเกม” ที่น่าจับตาในปี 2567 บรรดาสื่อด้านเทคโนโลยีต่างยกให้ สเปซเอ็กซ์ เชื่อว่าชิ้นงานและนโยบายของสเปซเอ็กซ์ จะเป็นเครื่องตรวจวัดภาพรวมการลงทุนด้านอวกาศทั้งหมด โดยเฉพาะแผนทดสอบยาน “สตาร์ชิป” (Starship) ที่เป็นจรวดแบบ 2 ท่อน สูง 120 เมตร ยานอันทรงพลังนี้จะใช้ขนส่งมนุษย์และสิ่งของไปยังดวงจันทร์ มีเป้าหมายสูงสุดก็คือไปดาวอังคาร โปรเจกต์สตาร์ชิปจะประสบความสำเร็จน่าพอใจแค่ไหน เพราะมองกันว่าความสำเร็จของยานสตาร์ชิปจะเร่งกระตุ้นและยกระดับมุมมองใหม่ๆของนักลงทุนไปสู่อีกระดับหนึ่งกันเลยทีเดียว

ขณะที่ “สตาร์ลิงก์” (Starlink) กิจการอินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียมของสเปซเอ็กซ์ ถูกมองว่าอาจสร้างโอกาสและช่องทางใหม่แก่นักลงทุนจากสถาบันการเงินการลงทุน รวมถึงนักลงทุนรายย่อย ปัจจุบันสตาร์ลิงก์ ประกอบด้วยดาวเทียมปฏิบัติการประมาณ 5,000 ดวง แต่สเปซเอ็กซ์ได้รับอนุญาตให้ใช้งานดาวเทียมสตาร์ลิงก์ได้ถึง 12,000 ดวง

มองไปที่ “ดวงจันทร์” บริวารของโลกที่ไม่เคยคลาดไปจากความสนใจของใครๆ ประวัติศาสตร์จารึกว่า สหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีน และอินเดีย เป็น 4 ชาติที่ส่งยานไปลงจอดบนดวงจันทร์สำเร็จ ซึ่งในปี 2567 เราน่าจะได้เห็นการก้าวกระโดดครั้งยิ่งใหญ่ในแง่ “ดวงจันทร์เชิงพาณิชย์” โดยสปอตไลต์จะจับที่วงการ อวกาศญี่ปุ่นกับแผนส่งยานไปดวงจันทร์ ก็ต้องรอดูว่าแดนอาทิตย์อุทัยจะได้เข้าทำเนียบเป็นชาติที่ 5 ที่ส่งยานไปจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จหรือเปล่า ขณะที่ องค์การนาซา ก็ยังมุ่งมั่นไปต่อกับ โครงการอาร์ทีมิส โดยภารกิจ อาร์ทีมิส 2 ที่จะมีขึ้นปลายปี 2567 คือการส่งนักบินอวกาศขึ้นยานอวกาศไปบินโคจรรอบดวงจันทร์แบบไม่ได้ลงจอด เพื่อเป็นการเตรียม พร้อมที่จะลง ไปเยือนขั้วใต้ดวงจันทร์ในปี 2568

...

การ “สำรวจไปในจักรวาล” อันกว้างใหญ่และเต็มไปด้วยปริศนา ยังเป็นความท้าทายเสมอ หลังจากองค์การนาซา องค์การอวกาศยุโรปและองค์การอวกาศแคนาดา ปลุกปั้นสร้างและปล่อย “กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์” ขึ้นสู่วงโคจรไปเมื่อปลายปี 2564 อุปกรณ์มูลค่าสูงถึงหมื่นล้านดอลลาร์ก็ตอบแทนด้วยผลงานเข้าตามากมายหลายชิ้น และถ้าเป็นไปตามกำหนดการที่นาซาวางไว้ เราจะได้เห็น “กล้องโทรทรรศน์อวกาศสเฟียร์เอ็กซ์” (SPHEREx) ถูกส่งขึ้นสู่ท้องฟ้าในปี 2567 ซึ่งอายุการใช้งาน 2 ปีของสเฟียร์เอ็กซ์นั้นจะหมดไปกับการทำแผนที่ทั่วท้องฟ้า โดยจัดทำแผนที่ปีละ 2 ครั้ง

ในอนาคตเราอาจได้เห็นแผนที่กาแล็กซี 450 ล้านแห่ง ดาวฤกษ์ 100 ล้านดวงในกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา ในรายละเอียดที่ไม่เคยมีมาก่อน!

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่