ปี 2023 กำลังจะผ่านพ้นไปเข้าสู่ปีใหม่ 2024 โดยตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา เกิดปรากฏการณ์และความเปลี่ยนแปลงขึ้นในโลกของเรามากมาย ซึ่งภายในศูนย์กลางนั้นจะมีบุคคลกลุ่มหนึ่ง ที่โดดเด่นขึ้นมาหรือมีอิทธิพลกระทบต่อความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลก ไม่ว่าจะในด้านการเมือง ศิลปะ หรือเทคโนโลยี

ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ได้คัดเลือกบุคคล 7 คน ที่มีความโดดเด่นที่สุดในสายอาชีพของพวกเขา หรือมีอิทธิพลต่อความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกที่สุดในปี 2023 เอาไว้ ณ ที่นี้แล้ว

เทย์เลอร์ สวิฟต์ - บุคคลแห่งปี 2023

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปี 2023 นับเป็นปีของ เทย์เลอร์ สวิฟต์ อย่างแท้จริง นักร้องสาววัย 34 ปีผู้นี้ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามในการทำสิ่งที่เธอเชี่ยวชาญที่สุด นั่นคือการสร้างความบันเทิงและเขียนเพลงที่เชื่อมโยงเหล่าแฟนๆ เข้าด้วยกัน จนทำให้เธอกลายเป็นคนแรกที่ได้รับตำแหน่ง ‘บุคคคลแห่งปี’ ของนิตยสาร Time ด้วยผลงานด้านศิลปะ

ตลอด 17 ปีนับตั้งแต่เปิดตัวเพลงแรก สวิฟต์มีอัลบั้มเพลงที่ติดชาร์ตอันดับ 1 มากกว่าผู้หญิงคนใดในประวัติศาสตร์ แค่ปีนี้ปีเดียวก็มีถึง 3 อัลบั้มแล้ว เธอยังไปปรากฏตัวอยู่ทุกที่ในปี 2023 คอนเสิร์ต ‘ดิ เอราส์ ทัวร์’ (The Eras Tour) ของเธอมีคนดูเต็มทุกรอบ และสร้างปรากฏการณ์ ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนเทียบเท่าแผ่นดินไหวระดับ 2.3 แมกนิจูด

เอราส์ ทัวร์ ยังส่งให้สาวเทย์เลอร์ไปเป็นหนึ่งในมหาเศรษฐีพันล้าน, กระตุ้นจีดีพีของหลายประเทศ ถึงขั้นที่มหาวิทยาลัยต่างๆ เปิดชั้นเรียนเพื่อศึกษาบทเรียนจากเธอ ทั้งในด้านวรรณกรรม, ธุรกิจ และกฎหมาย ขณะที่หลายเมืองเปลี่ยนชื่อถนนตามชื่อของเธอ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเธอมีอิทธิพลขนาดไหน

แต่ไม่ใช่แค่เรื่องศิลปวัฒนธรรมเท่านั้น บรรดาผู้นำและนักการเมืองโลก ยังแข่งกันใช้ความสำเร็จของ เอราส์ ทัวร์ มาช่วยสร้างความนิยมให้ตัวเอง ด้วยการขอให้ เทย์เลอร์ สวิฟต์ มาจัดคอนเสิร์ตในประเทศของพวกเขา เธอยังทำให้แฟนหลายหมื่นคนยอมลงทะเบียนใช้สิทธิ์เลือกตั้งสหรัฐฯ หลังจากเธอออกมากระตุ้นผ่านอินสตาแกรมด้วย

...

แซม อัลต์แมน - ซีอีโอดาวรุ่งแห่งวงการ AI

แซม อัลต์แมน ซีอีโอวัย 38 ปี ของบริษัท ‘โอเพนเอไอ’ (OpenAI) ผู้ปล่อย ‘แชตจีพีที’ (ChatGPT) หนึ่งในระบบแชตเอไอที่ทรงพลังที่สุดในโลกออกสู่สาธารณะเมื่อปลายปีที่แล้ว ด้วยความเชื่อมั่นว่ามนุษย์มีความฉลาดและความสามารถในการปรับตัวมากพอที่จะรับมือกับเอไอที่พัฒนาขึ้นทุกวันได้

“สังคมมีความสามารถในการปรับตัว เพราะผู้คนฉลาดและมีความสามารถมากกว่าคนที่เรียกว่าผู้เชี่ยวชาญคิดเอาไว้มาก”

อัลต์แมนเป็นหนึ่งในชื่อที่ร้อนแรงที่สุดในวงการไอที และการปล่อยแชตจีพีทีก็กำลังพิสูจน์ว่า สิ่งที่เขาคิดนั้นถูกต้อง อย่างน้อยก็จนถึงตอนนี้ เพราะมนุษย์ปรับตัวเข้ากับการมาของเครื่องมือเอไออย่างรวดเร็ว ผู้พัฒนารายอื่นๆ ก็ทยอยปล่อยระบบปัญญาประดิษฐ์ของตัวเองออกมา และมันก็ค่อยๆ กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผู้คน

แต่ระบบที่ทรงพลังมากขึ้นก็มาพร้อมกับอันตรายที่สูงขึ้น ฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศต่างๆ กำลังระดมสมองอย่างจริงจังเพื่อหามาตรการควบคุมการใช้ปัญญาประดิษฐ์ ไม่ให้เกิดผลเสียหรือเป็นอันตราย ทว่าตอนนี้ แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ที่ฉลาดล้ำที่สุดในด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ก็ไม่รู้วิธีที่เหมาะสมในการควบคุมเอไอ

ในฐานะแนวหน้าในการผลักดันปัญญาประดิษฐ์ โอเพนเอไอ ภายใต้การบริหารของอัลต์แมนวางปัญหาเรื่องการควบคุมเอไอ เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของบริษัท และประกาศตั้งทีม Superalignment ทีมงานวิจัยที่เตรียมการรับมือปัญญาประดิษฐ์ที่ฉลาดเหนือมนุษย์ เพื่อให้แน่ใจว่าระบบเอไอทำเพื่อประโยชน์สูงสุดของมนุษยชาติ

เรเจป ไตยิป เอร์โดอัน - ตัวกลางเจรจาความขัดแย้ง

เรเจป ไตยิป เอร์โดอัน ประธานาธิบดีแห่งตุรกี ผู้ปกครองประเทศมานานกว่า 2 ทศวรรษ เขาพยายามวางตัวเป็นตัวละครสำคัญในภูมิภาคมานานแล้ว และตอนนี้เอร์โดอันก็กำลังใช้ประโยชน์จากวิกฤติเชิงภูมิรัฐศาสตร์ครั้งใหญ่อย่างสงครามยูเครน และสงครามอิสราเอล-ฮามาสอย่างเต็มที่

เอร์โดอันเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่มีสายต่อตรงเข้าสู่ทั้งเครมลินและทำเนียบประธานาธิบดียูเครน และเป็นสื่อกลางระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายนับตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากบุกยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022 รวมถึงช่วยเรื่องการทำข้อตกลงเปิดทางส่งธัญพืชผ่านทะเลดำที่ถูกมอสโกปิดกั้น และถึงแม้ว่าข้อตกลงจะพังทลายลงในเวลาต่อมา เอร์โดอันก็ยังพยายามรื้อฟื้นมันกลับมา

ตอนที่ฮามาสเปิดฉากโจมตีอิสราเอลครั้งใหญ่เมื่อ 7 ต.ค. ที่ผ่านมา สังหารคนไปกว่า 1,200 ศพ และลักพาตัวประกันอีก 240 ราย เอร์โดอันก็เลือกบทบาทเป็นผู้ไกล่เกลี่ยอีกครั้ง โดยหาทางลดความรุนแรงร่วมกับประธานาธิบดีอิสราเอล และผู้นำปาเลสไตน์ในเวสต์แบงก์ รวมถึงผู้นำอียิปต์ เลบานอน และกาตาร์ด้วย แต่หลังจากอิสราเอลโจมตีฉนวนกาซาอย่างหนักเพื่อตอบโต้กลุ่มฮามาส เอร์โดอันก็เลือกข้างปาเลสไตน์ ประณามอิสราเอลเป็นผู้ยึดครองและเป็นต้นเหตุของเรื่องทั้งหมด

ในขณะเดียวกัน เอร์โดอันยังดันตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วมในความขัดแย้งของยุโรป ใช้เรื่องการขอเข้าเป็นสมาชิกนาโตของสวีเดน ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากตุรกีด้วย เป็นเครื่องต่อรองในการขอเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของพวกเขาที่คาราคาซังมานาน ทำให้ EU ต้องหันมาพิจารณาว่าจะเพิ่มความร่วมมือกับตุรกีอย่างไร นับเป็นชัยชนะครั้งใหญ่ของเอร์โดอัน

...

เออร์ซูลา วอน แดร์ เลเยน - เดอะ ควีน

สตรีผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นประธานคณะมนตรียุโรป (European Commission - EC) เข้มแข็งที่สุด และเป็นชาวเยอรมันคนแรกที่ดำรงตำแหน่งนี้นับตั้งแต่ วอลเตอร์ ฮอลล์ชไตน์ ออกจากตำแหน่งไปเมื่อปี 1967 เออร์ซูลา วอน แดร์ เลเยน รวบรวมอำนาจอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นำพาสหภาพยุโรปฟันฝ่าวิกฤติมากมายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

วอน แดร์ เลเยน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเยอรมนี เป็นผู้ประทับตราอนุมัติมาตรการรับมือทุกความท้าทายต่างๆ ตั้งแต่ไฟเขียวใช้วัคซีนโควิด-19 ไปจนถึงรวบรวมชาติยุโรปคว่ำบาตรรัสเซีย ตามหลังการบุกโจมตียูเครนเต็มรูปแบบ

แต่ในช่วงหลังมานี้ วิธีการบริหารแบบแข็งกร้าวของเธอเริ่มสร้างความไม่พอใจในหมู่เพื่อนร่วมงานของเธอในหน่วยงานการเมืองสูงสุดของสหภาพยุโรปแห่งนี้ วอน แดร์ เลเยน กลายเป็นที่เลื่องลือเรื่องการตัดสินใจสำคัญๆ โดยไม่ปรึกษารัฐบาลชาติ EU หรือกระทั่งสมาชิกคณะมนตรีของเธอเอง จนได้ฉายาเชิงประชดประชันว่า ‘ควีนเออร์ซูลา’

เออร์ซูลาเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์หลังเล่นนอกบทด้วยการเดินทางเยือนอิสราเอลโดยไม่แจ้งล่วงหน้า เมื่อเดือนตุลาคม หลังจากกลุ่มฮามาสเปิดฉากโจมตีครั้งใหญ่ เธอยังเป็นผู้ลงนามข้อตกลงมอบเงินพันล้านให้ตูนิเซียช่วยสกัดผู้อพยพจากแอฟริกาใต้ ไม่เพียงเท่านั้น เธอยังประกาศการสืบสวนนโยบายอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้าของจีนเมื่อเดือนกันยายน ทำให้ชาติสมาชิก EU หลายประเทศไม่ทันตั้งตัวด้วย

ในปี 2024 จะเกิดการสับเปลี่ยนตำแหน่งผู้นำฝ่ายบริหารของสหภาพยุโรป ซึ่ง วอน แดร์ เลเยน ยังคงมีอิทธิพลมากพอให้เธอมีตัวเลือก 2 ทางคือ ดำรงตำแหน่งประธาน EC ต่อไปอีก 5 ปี หรือสละตำแหน่งให้คนอื่นๆ แล้วเดินหน้าไปเป็นเลขาธิการใหญ่นาโตแทน

...

อีลอน มัสก์ – นักธุรกิจสติเฟื่อง

อีลอน มัสก์ จบปี 2022 ด้วยการเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก แต่คราวนี้เขาจบปีด้วยการเป็นคนที่โด่งดังที่สุด

หลังจากใช้เงินไป 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2022 เพื่อเทกโอเวอร์บริษัท ทวิตเตอร์ มัสก์ผู้นำเสนอตัวเองเป็นผู้ต่อต้านการแบ่งชนชั้น, สนับสนุนเสรีภาพในการพูดของทุกคน ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงทวิตเตอร์ด้วยการปลดพนักงานและทีมรักษาความปลอดภัย, เก็บเงินค่ายืนยันตัวตน และสุดท้าย ทวิตเตอร์ ก็หายไปเมื่อมัสก์ตัดสินใจเปลี่ยนชื่อเป็น เอ็กซ์ (X) และเลิกใช้โลโก้นกฟ้าที่เป็นเครื่องหมายของทวิตเตอร์มานานกว่า 10 ปี

X ทำให้อีลอน มัสก์ กลายเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลอย่างมากบนโลกออนไลน์ เขาแสดงความเห็นอย่างดุเดือด ตั้งแต่เรื่องสงครามยูเครน, สงครามอิสราเอล-ฮามาส, การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไป, การดีเบตเรื่องการต่อต้านชาวยิวที่ฮาร์วาร์ด และอื่นๆ ซึ่งมักดึงความสนใจจากผู้นำโลกได้สำเร็จ

มัสก์ยังเดินทางไปพบผู้นำประเทศต่างๆ มากมาย รวมทั้งเกาหลีใต้, อินเดีย, ตุรกี และฝรั่งเศส ได้ทัวร์ประเทศจีนและพบรัฐมนตรีหลายกระทรวง ก่อนที่ในเดือนพฤศจิกายน มัสก์จะได้ร่วมเวทีประชุมว่าด้วยเอไอกับนายกรัฐมนตรีอังกฤษ และเดินทางไปพบผู้นำอิสราเอล หลังเขาไปพูดว่า ข้อความต่อต้านชาวยิวบน X คือความจริง

มหาเศรษฐีรายนี้ยังไปพัวพันกับความขัดแย้งอยู่เป็นนิจ ทั้งโจมตีผู้ก่อตั้งวิกิพีเดีย ที่ประกาศขอรับบริจาค, ปะทะกับ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก เหตุ เมตา เปิดตัว Threads มาเป็นคู่แข่งของ X ซึ่งเรื่องลามไปถึงขั้นมัสก์ท้าซัคเคอร์เบิร์กต่อสู้บนสังเวียน MMA ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะเกิดขึ้นจริง, มัสก์ยังเรียกร้องให้ดิสนีย์ ไล่ซีอีโอ บ๊อบ อีเกอร์ ออก เพราะถอนโฆษณาออกจาก X ด้วย

...

มิสเตอร์บีสต์ – ยูทูบเบอร์พันล้าน

จิมมี โดนัลด์สัน หรือที่ในโลกออนไลน์รู้จักกันในชื่อ ‘มิสเตอร์บีสต์’ (MrBeast) หนึ่งในยูทูบเบอร์ที่ร้อนแรงที่สุดในยุคนี้ และความโด่งดังของเขาก็มาพร้อมกับเม็ดเงินจำนวนมหาศาล ซึ่งทำให้หนุ่มวัย 25 ปีผู้นี้มีทรัพย์สินมากถึง 110 ล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว ในปี 2023 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนกว่าเท่าตัว

โดนัลด์สันอัปโหลดวิดีโอลงบนยูทูบครั้งแรกตั้งแต่ตอนอายุแค่ 13 ปี ในช่องที่ชื่อว่า MrBeast6000 จนถึงตอนนี้เขามีผู้ติดตามมากกว่า 200 ล้านซับสไครบ์แล้ว เขายังแตกแขนงสายงานไปทำเชนอาหารฟาสต์ฟู้ดของตัวเอง และธุรกิจอื่นๆ แต่คนก็ยังรู้จักเขาดีที่สุดในฐานะยูทูบเบอร์อยู่ดี

มิสเตอร์บีสต์ ทำคลิปวิดีโอรับคำท้าทาย เริ่มจากคำท้าเล็กๆ น้อยๆ อย่างพูดชื่อ “โลแกน พอล” 100,000 ครั้ง หรือให้ทิปพนักงานส่งพิซซ่าหลายร้อยดอลลาร์ ซึ่งได้รับผลตอบรับอย่างล้นหลาม และโดนัลด์สันก็ไม่หยุดแค่นั้น เขาเพิ่มการลงทุนในการผลิตคลิปมากขึ้นเรื่อยๆ บางคลิปใช้เงินหลักล้านดอลลาร์ เนื่องจากเขาต้องการนำรายได้ที่ได้มา ลงทุนกลับไปในคลิปของเขาทุกบาททุกสตางค์

โดนัลด์สันยังมีชื่อด้านการกุศล เขาร่วมระดมทุนทำโครงการปลูกต้นไม้ 20 ล้านต้น และเก็บขยะพลาสติก 30 ล้านปอนด์จากชายหาดผ่านแคมเปญ “ทีมทรีส์” (Team Trees) และ “ทีมซีส์” (Team Seas) จนถูกคนบางกลุ่มครหาว่าสร้างภาพ แต่ถ้าเขาลงทุนมหาศาลกับการสร้างภาพ แล้วมันช่วยเพิ่มต้นไม้และลดขยะจากธรรมชาติลงได้ ก็นับเป็นเรื่องดีมิใช่หรือ?

โดนัลด์ ทัสก์ – ความหวังฝ่ายสายกลาง

ตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ชาย 2 คนต่อสู้เพื่อแย่งชิงตำแหน่งผู้นำของประเทศโปแลนด์ ฝ่ายหนึ่งคือ โดนัลด์ ทัสก์ อดีตนายกรัฐมนตรีโปแลนด์ผู้เคยดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรียุโรป ก่อนจะกลับไปเป็นหัวหน้าพรรค ‘ซิวิค แพลตฟอร์ม’ (PO) ส่วนอีกฝ่ายคือ ยาโรสลาฟ คัชชินสกี หัวหน้าพรรคกฎหมายและความยุติธรรม (PiS) นักชาตินิยมฝ่ายขวา

หลังจากโปแลนด์อยู่ภายใต้การปกครองของคัชชินสกีมานาน 8 ปี สายลมแห่งความเปลี่ยนแปลงก็มาถึง เมื่อนายทัสก์แสดงให้เห็นในการเลือกตั้งเดือนตุลาคมว่า เขายังมีเสน่ห์ดึงดูด สามารถรวบรวมพรรคการเมืองต่างๆ ตั้งแต่ฝ่ายกลางขวาจนถึงฝ่ายซ้ายให้มาเป็นรัฐบาลร่วมได้สำเร็จ แม้ฝ่าย PiS จะพยายามพลิกเกมโดยใช้สื่อที่ถูกรัฐควบคุมอย่างหนักก็ตาม

ชัยชนะในการเลือกตั้งของทัสก์ฉายแสงแห่งความหวังไปทั่วยุโรป ซึ่งกำลังเผชิญคลื่นฝ่ายขวาถาโถม ตั้งแต่การขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอิตาลีของนางจอร์เจีย เมโลนี, โรเบิร์ต ฟีโก สหายปูตินได้กลับเป็นผู้นำสโลวาเกีย ขณะที่พรรค Alternative for Germany ฝ่ายขวาจัดในเยอรมนีก็กำลังมีคะแนนนิยมเพิ่มสูง เช่นเดียวกับพรรค Fidesz ของนายวิกตอร์ ออร์บาน นายกรัฐมนตรีอิตาลี มหามิตรของปูตินในยุโรป

ผู้ที่ดีใจที่สุดในชัยชนะของทัสก์คงหนีไม่พ้นกลุ่มสหภาพยุโรป เพราะพวกเขาอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกกับรัฐบาลโปแลนด์ภายใต้การบริหารของ PiS มาตลอด โปแลนด์ของคัชชินสกีออกนโยบายปฏิรูปมากมายที่ศาลยุติธรรมยุโรปตัดสินว่าลดทอนเสรีภาพของฝ่ายตุลาการ ทั้งยังวิพากษ์วิจารณ์สถาบันของ EU อย่างหนัก และโหวตค้านร่างกฎหมายสำคัญของ EU ด้วย

การกลับมาของทัสก์ ซึ่งให้คำมั่นว่าจะย้อนคืนการปฏิรูปศาลของรัฐบาลก่อน น่าจะช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างโปแลนด์กับ EU กลับมาราบรื่น และทำให้ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับที่ 5 ของสหภาพยุโรปแห่งนี้ กลับมาเป็นหัวใจสำคัญในการออกนโยบายต่างๆ ของ EU อีกครั้ง





ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี

ที่มา : politico, bbc, time