กลายเป็นประเด็นถกเถียงเรื่องผลกระทบที่จะตามมา หลังกองทัพอิสราเอล (IDF) เปิดเผยกลยุทธ์อัดน้ำไล่หนูออกจากท่อ ปั๊มน้ำทะเลใส่อุโมงค์ฉนวนกาซา บีบนักรบฮามาส ขึ้นมาสู้บนดิน

โดยมีการเทสต์รัน ทดสอบปล่อยแบบจำกัดวงไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่สถาบันการทหารเวสต์ พอยต์ ของสหรัฐฯ เคยประเมินไว้ว่า ใต้ฉนวนกาซามีอุโมงค์กว่า 1,300 แห่ง มีความยาวรวมกันกว่า 500 กิโลเมตร ซึ่งหากจะอัดน้ำให้เต็ม จะต้องใช้น้ำทะเลประมาณ 1.5 ล้านลูกบาศก์เมตร (รถบรรทุกน้ำ กทม.กว่า 160,000 คัน)

แม้จะไม่มีการเปิดเผยการทดสอบดังกล่าวว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด แต่ก็มีเสียงวิงวอนจากนักวิชาการทันทีว่า การอัดน้ำทะเลเข้าไปในเครือข่ายอุโมงค์ใต้ดินฉนวนกาซา ย่อมส่งผลต่อ “ชั้นหินอุ้มน้ำ” ซึ่งเป็นแหล่ง “น้ำจืด” หลักของประชาชนชาวปาเลสไตน์

มาร์ค เซตุน ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ เปิดเผยว่า ชั้นหินอุ้มน้ำที่ว่านี้ คือแหล่งน้ำจืดหลักของฉนวนกาซา ประเมินได้ว่าน้ำจืดในฉนวนกาซากว่า 85% มาจากการขุดเจาะบ่อน้ำจากชั้นหินดังกล่าว หล่อเลี้ยงชาวปาเลสไตน์มากว่าหลายทศวรรษ

ที่สำคัญชั้นหินอุ้มน้ำใต้ฉนวนกาซา ก็ไม่ได้อยู่ในสภาพเต็มร้อย ได้ผลกระทบในช่วงปีหลังๆจากน้ำเสียซึมลงชั้นหินใต้ดิน และจากน้ำทะเลหนุน การอัดน้ำทะเลลงไปในอุโมงค์มีความเป็นไปได้สูงว่า แหล่งน้ำจืดเหล่านี้อาจถูกทำลายไปทั้งหมด กลายเป็นวิกฤตการณ์ร้ายแรง อีกทั้งในอุโมงค์ใต้ดินก็อาจถูกใช้เป็นที่เก็บ “น้ำมัน” หากน้ำทะเลไปผสมกับน้ำมันในอุโมงค์ และซึมลงไปในชั้นหิน ก็เข้าข่ายอวสานของแหล่งน้ำฉนวนกาซา

จึงเป็นการสมควรหรือไม่ ที่ประชาคมโลกควรช่วยกันคัดค้านปฏิบัติการอัดน้ำไล่หนู เพราะจะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในระยะยาว และเปลี่ยนวิถีชีวิตประชาชนในฉนวนกาซาไปตลอดกาล

...

แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครให้คำตอบได้ ว่าอิสราเอลที่โกรธแค้นอย่างหนักจะตัดสินใจเช่นไร อีกทั้งในอดีตกาลก็เคยมีประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า กองทัพจักรวรรดิ “โรมัน” เคยล้างแค้นอาณาจักร “คาร์เทจ” ที่รบพุ่งกันมานาน ด้วยการเอาเกลือทะเลโรยหน้าดิน จนพื้นที่แถบนั้นไม่สามารถเพาะปลูกอะไรได้อีก.

ตุ๊ ปากเกร็ด

คลิกอ่านคอลัมน์ "หน้าต่างโลก" เพิ่มเติม