ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-ญี่ปุ่น ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้คนญี่ปุ่นมีความนิยมชมชอบวัฒนธรรมต่างๆของตะวันตกมากกว่าชาวเอเชียในหลายประเทศ

เช่น เทศกาลแห่งความสุข “คริสต์มาส” ในวันนี้ (25 ธ.ค.) ที่หลายครอบครัวจะรวมตัวรับประทานอาหารร่วมกัน บางบ้านอาจจัดหนักจัดเต็ม สั่งเนื้อเกรดพรีเมียม หรือเซตปลาดิบแบบอลังการ

แต่ทั้งนี้ก็ยังมีอีกหนึ่งเมนูที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆเช่นกัน นั่นคือเมนู “ไก่ทอดเคเอฟซี” เคนตักกี ฟรายชิกเก้น ที่หากินได้ง่าย และสำหรับบางประเทศมันก็คืออาหารฟาสต์ฟู้ดทั่วๆไป

สำหรับชาวญี่ปุ่นนั้น ไก่ทอดเคเอฟซีถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอาหารประจำเทศกาลส่งท้ายปีมานานเกือบ 5 ทศวรรษ

นับตั้งแต่ผู้พันแซนเดอร์สมาเปิดตลาดในญี่ปุ่นเมื่อปี 2517 จนทำให้คนยุคโชวะมีคำพูดว่า “คุริสุมาสุ นิ วะ เคนตักกิอิ” หรือแปลได้ว่า เคนตักกีสำหรับวันคริสต์มาส

ฟังดูแล้วเหมือนเรื่องไม่น่าเชื่อ แต่จากข้อมูลของสื่อท้องถิ่นญี่ปุ่นยืนยันว่า วันที่ 24 ธ.ค. หรือวันคริสต์มาสอีฟ (ฉลองก่อนวันคริสต์มาสวันจริง) จะเป็นวันที่ไก่ทอดชื่อดังขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่า และจะเป็นวันที่ พนักงานตามสาขาต่างๆยุ่งกันหัวหมุน

เช่นเดียวกับนายแดเนียล คัลเวิร์ต เชฟร้านอาหารระดับมิชลิน 2 ดาว ในโรงแรมโฟร์ ซีซัน กรุงโตเกียว ที่ยืนยันว่า งานนี้เป็นวัฒนธรรมความนิยมทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นอเมริกันมาตั้งแต่ยุค’1970 จนถึงปัจจุบัน และเปิดทางให้ฝ่ายการตลาดของเคเอฟซีอัดแคมเปญดึงดูดลูกค้าได้

อย่างเต็มที่ อีกทั้งชาวตะวันตกที่อยู่ในญี่ปุ่นก็ยากที่จะไปตามหา “ไก่งวง” ตัวเขื่อง มาตั้ง บนโต๊ะกับข้าวตามประเพณีของภูมิลำเนา

...

หากอยากสั่งไก่ทอดชุดใหญ่มารับประทานกัน บอกเลยว่าต้องสั่งจองกันล่วงหน้าอย่างน้อย 3-4 สัปดาห์ อย่างปีนี้ สาขาต่างๆก็เริ่มเปิดจองออเดอร์กันตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ต.ค.

“ถ้าจะเดินไปสั่งชุดใหญ่สำหรับงาน เลี้ยงที่หน้าร้าน ขอให้ลืมไปได้เลย ซึ่งบางคนก็อาจแก้ปัญหาโดยการไปเหมาซื้อไก่ทอดตามร้านสะดวกซื้อมาขัดตาทัพ เอาจริงๆนะครับจองร้านอาหารระดับมิชลิน 2 ดาวของผมในโรงแรมโฟร์ ซีซัน ยัง ง่ายกว่าเลย” เชฟคัลเวิร์ตกล่าวทิ้งท้าย.

ตุ๊ ปากเกร็ด

คลิกอ่านคอลัมน์ "หน้าต่างโลก" เพิ่มเติม