หญิงชาวอเมริกันที่มีภาวะมดลูกแฝด ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้ยาก ได้คลอดบุตร 2 ครั้งภายในระยะเวลา 2 วัน หลังจากตั้งครรภ์ ที่มีโอกาสเกิดขึ้นเพียง 1 ในล้าน
เคลซีย์ แฮทเชอร์ วัย 32 ปี คลอดบุตรสาวหนึ่งคนเมื่อวันอังคาร (19 ธ.ค.) และลูกสาวอีกคนในวันพุธ (20 ธ.ค.) ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอลาบามา เบอร์มิงแฮม (UAB) ในสหรัฐฯ โดยแฮทเชอร์ประกาศการถือกำเนิด "ทารกมหัศจรรย์" บนสื่อโซเชียลมีเดีย โดยยกย่องคณะแพทย์ว่า "น่าทึ่ง" โดยทารกเพศหญิงทั้งสองได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นพี่น้องฝาแฝดซึ่งมีวันเกิดคนละวัน ซึ่งเกิดขึ้นได้ยากมาก
นางแฮทเชอร์ กล่าวว่า ตอนนี้ครอบครัวได้กลับมาที่บ้านแล้ว ก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์ว่าเธอจะถึงวันครบกำหนดคลอดในวันคริสต์มาสนี้ ด้านสูติแพทย์ของ UAB ยืนยันว่าทั้งสามแม่ลูกสบายดี และบอกว่าการคลอดครั้งนี้เป็นกรณีที่คนส่วนใหญ่ในอาชีพของเธอไม่เคยได้เจอมาก่อน
นางแฮทเชอร์ได้รับการแจ้งเมื่ออายุ 17 ปี ว่าเธอมีภาวะมดลูกแฝด (uterus didelphys) ซึ่ง UAB อธิบายว่าเป็นความผิดปกติแต่กำเนิดที่พบไม่บ่อย ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้หญิงราว 0.3% และตามข้อมูลของ UAB โอกาสที่จะตั้งครรภ์ในมดลูกทั้งสองข้างนั้น มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยกว่าหนึ่งในล้าน
กรณีการตั้งครรภ์ในมดลูกทั้งสองข้างที่ได้รับรายงานทั่วโลกนั้นพบได้ยากมาก ในปี 2019 แพทย์ในบังกลาเทศเปิดเผยว่า ผู้หญิงคนหนึ่งได้ให้กำเนิดลูกแฝดเกือบหนึ่งเดือน หลังจากคลอดลูกก่อนกำหนดในมดลูกอีกข้างของเธอ
นางสาวแฮทเชอร์เคยตั้งครรภ์มาแล้วสามครั้งก่อนหน้านี้และมีสุขภาพดี ครั้งนี้ เธอเชื่อว่าตัวเองกำลังตั้งครรภ์ในมดลูกเพียงมดลูกเดียว จนกระทั่งผลการอัลตราซาวนด์ตามปกติ พบว่ามีทารกในมดลูกที่สองด้วย
UAB อธิบายว่าการตั้งครรภ์ของเธอเป็นเรื่องปกติ ศาสตราจารย์ริชาร์ด เดวิส ผู้ร่วมดูแลการคลอดบุตร ชี้ให้เห็นว่าทารกแต่ละคนมี "พื้นที่พิเศษในการเติบโตและพัฒนา" เขากล่าวว่า เนื่องจากทารกแต่ละคนมีมดลูกเป็นของตัวเอง ซึ่งแตกต่างจากการตั้งครรภ์แฝดทั่วไป
...
แฮทเชอร์ต้องคลอดก่อนกำหนดเมื่อมีอายุครรภ์ได้ 39 สัปดาห์ และจำเป็นต้องมีการตรวจติดตามและบันทึกที่โรงพยาบาลเป็นสองเท่า รวมถึงเพิ่มเจ้าหน้าที่เป็นสองเท่า
นพ.ชเวตา พาเทล จากทีมสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยาของโรงพยาบาล กล่าวว่า สิ่งนี้พิสูจน์แล้วว่าเป็นส่วนที่ "ผิดปกติที่สุด" ในกรณีของแฮทเชอร์ เขากล่าวว่า เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลไม่มีหลักฐานหรือข้อมูลมากนัก และจำเป็นต้องนำความรู้เกี่ยวกับการตั้งครรภ์โดยทั่วไปมาใช้ แต่สิ่งที่แน่นอนคือทารกมี "ความคิดเป็นของตัวเอง" และได้รับการคลอดด้วยวิธีที่ต่างกัน
โดย "ร็อกซี" ทารกคนแรก เกิดทางช่องคลอดเมื่อเวลาประมาณ 19.45 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันที่ 19 ธันวาคม ส่วนคนที่สองชื่อ "รีเบล" เกิดจากการผ่าตัดทำคลอด ในอีกกว่า 10 ชั่วโมงต่อมา
ศ.เดวิส กล่าวว่า อาจเรียกเด็กทั้งสองได้ว่าเป็นพี่น้องฝาแฝด ซึ่งเป็นคำที่ใช้เมื่อทารกแต่ละคนพัฒนาจากไข่ที่แยกจากกัน และปฏิสนธิด้วยสเปิร์มที่แยกจากกัน.
ติดตามข่าวต่างประเทศเพิ่มเติมที่ https://www.thairath.co.th/news/foreign