เมื่อเร็วๆนี้ กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ เครื่องมือขององค์การนาซา สหรัฐอเมริกา องค์การอวกาศยุโรปและองค์การอวกาศแคนาดา ได้ฝึกการส่องมองไปที่ดาวยูเรนัสอันแปลกประหลาดและลึกลับในระบบสุริยะของเรา ดาวเพื่อนบ้านอันแสนไกลดวงนี้ถูกขนานนามว่าเป็นดาวยักษ์น้ำแข็งที่มีลักษณะหมุนไปทางด้านข้าง

ด้วยความไวที่ยอดเยี่ยมของกล้องเจมส์ เวบบ์ ทำให้สามารถจับภาพวงแหวนด้านในและด้านนอกของดาวยูเรนัสที่มีแสงสลัวได้ พร้อมโชว์ให้เห็นวงแหวนซีต้า (Zeta ring) ที่มองแล้วเข้าใจยาก เพราะเป็นวงแหวนที่จางมากและกระจัดกระจายใกล้กับตัวดาวยูเรนัสมากที่สุด นอกจากนี้ กล้องเจมส์ เวบบ์ ยังถ่ายภาพดวงจันทร์บริวารของดาวยูเรนัส 27 ดวง ซึ่งกล้องยังส่องเห็นดวงจันทร์เล็กๆบางดวงในวงแหวนของดาวยูเรนัสด้วยเช่นกัน ทั้งยังพบเห็นพายุสว่างหลายลูกใกล้ใต้ขอบด้านใต้ของแผ่นขั้วดาว จำนวนพายุ ความถี่ และตำแหน่งที่พายุปรากฏในชั้นบรรยากาศของดาวยูเรนัส อาจเนื่องมาจากผลกระทบตามฤดูกาลและทางอุตุนิยมวิทยารวมกัน

สิ่งที่คล้ายฝาครอบตรงขั้วดาวดูเหมือนจะโดดเด่นมากขึ้น เมื่อขั้วของดาวเคราะห์เริ่มหันเหไปทางดวงอาทิตย์และได้รับแสงแดดมากขึ้น นอกจากนี้การที่ดาวยูเรนัสหมุนไปด้านข้างด้วยความเอียงประมาณ 98 องศา จึงทำให้ยูเรนัสมีฤดูกาลที่รุนแรงที่สุดในระบบสุริยะ.

(Credit : NASA, ESA, CSA, STScI)

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่