• การประชุมสภาพอากาศนานาชาติ หรือ COP28 สิ้นสุดลงแล้ว หลังจากประชุมกันมานาน 2 สัปดาห์ และต้องเพิ่มการประชุมอีก 1 วันเพื่อเจรจาข้อตกลงสำคัญ

  • ที่การประชุมมีการบรรลุข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์อย่าง การจัดตั้งกองทุนชดเชยความเสียหายจากโลกร้อนแก่ชาติยากจน และข้อตกลงเปลี่ยนผ่านการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

  • อย่างไรก็ตาม กลุ่มนักเคลื่อนไหวยังคงมองว่า ข้อตกลงและคำมั่นสัญญาต่างๆ ที่เกิดขึ้นยังห่างไกลจากคำว่าเพียงพอ ที่จะช่วยโลกให้รอดพ้นจากวิกฤติความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ

การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 28 หรือ COP28 ที่นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งดำเนินมานานร่วม 2 สัปดาห์ จบลงไปแล้วเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา ท่ามกลางสายตาที่จับจ้องจากทั่วโลก ว่าการประชุมครั้งนี้จะมีข้อตกลงใดที่สามารถแก้วิกฤติโลกร้อนได้บ้าง

การประชุมเริ่มต้นขึ้นโดยที่ประเทศเจ้าภาพ ประกาศข้อตกลงจัดตั้ง กองทุนชดเชยความเสียหายจากโลกร้อนแก่ชาติยากจน เป็นครั้งแรกของโลก และปิดด้วยการบรรลุข้อตกลงเรียกร้องให้นานาชาติเปลี่ยนผ่านจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่รอคอยกันมานานกว่า 30 ปี

อย่างไรก็ตาม บรรดานักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมต่างมองว่า นี่เป็นอีกครั้งที่การประชุม COP ให้คำมั่นสัญญามากมายว่าจะทำมากขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะบรรลุเป้าหมายที่พวกเขากำหนดเอาไว้เองในความตกลงปารีส คือ การรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากยุคก่อนอุตสาหกรรม

นานาชาติยังคงพยายามเพื่อให้เป้าหมายดังกล่าวยังเป็นไปได้ ซึ่งต่อไปนี้คือเหตุการณ์หลักๆ ที่เกิดขึ้นในการประชุม COP ครั้งที่ 28 ปีนี้

...

ตกลงเปลี่ยนผ่านการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

หลังจากรอคอยมานานกว่า 30 ปี ในที่สุดความเคลื่อนไหวเพื่อจัดการปัญญาใหญ่ที่สุดอย่าง เชื้อเพลิงฟอสซิล ก็เกิดขึ้นที่การประชุม COP ครั้งที่ 28

เมื่อช่วงเช้าวันพุธที่ 13 ธ.ค. 2566 มากกว่า 190 ประเทศเห็นชอบข้อตกลงที่เรียกร้องให้ทั่วโลกเปลี่ยนผ่านจากการใช้งานเชื้อเพลิงฟอสซิลในระบบพลังงาน ซึ่งถึงแม้จะฟังดูไม่ใช่หลักชัยสำคัญนัก แต่นี่ถือเป็นครั้งแรกที่ข้อตกลงที่เกิดขึ้นในที่ประชุม COP พูดถึงความจำเป็นในการหยุดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างตรงไปตรงมาเช่นนี้

แต่คำว่าเปลี่ยนผ่าน (transition away) ยังห่างจากคำว่า “ค่อยๆ สิ้นสุดการใช้” (phase out) ที่กว่า 137 ประเทศ รวมถึง แคนาดา, ชิลี, นอร์เวย์ และตูวาลู ร่วมกันผลักดัน

แน่นอนว่าเหล่านักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมยังคงกังขาในคำมั่นสัญญานี้ เช่น นางเมย์ โบอีฟ ผู้อำนวยการบริหารของ 350.org กล่าวว่า “เป็นเรื่องน่าโมโหที่ต้องใช้เวลาถึง 30 ปี กว่าจะได้คำว่า ‘เปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิล’ ในข้อตกลง COP28 แต่มันกลับห้อมล้อมไปด้วยช่องโหว่มากมาย ที่จะทำให้มันอ่อนแอและไม่มีประสิทธิภาพ”

ขณะที่ นายโอมาร์ เอลมาวี จากกลุ่มเคลื่อนไหว ‘Africa Movement Building Space’ วิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงว่า “การเสนอให้เปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลอาจฟังดูเป็นก้าวที่ถูกต้อง เป็นความหวังเล็กๆ ท่ามกลางความวุ่นวาย แต่เราอย่าประเมินผ่านการเจ้าเล่ห์ของบริษัทและชาติผู้ผลิตน้ำมันยักษ์ใหญ่ พวกเขาอำพรางผลิตภัณฑ์ของตนอย่างชาญฉลาด โดยเฉพาะในพื้นที่เปราะบางที่สุดของโลก”

อย่างไรก็ตาม นายเอลมาวี ยอมรับว่า เรามาไกลมากกว่าเดิม แม้แต่บริษัทและประเทศผู้ผลิตน้ำมันยักษ์ใหญ่ที่ไม่เคยยอมโอนอ่อน ยังเห็นแล้วว่า เป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่โลกจะต้องเป็นอิสระจากการครอบงำของน้ำมัน

นักเคลื่อนไหววัย 12 ปี บุกเวที COP28

ในช่วงไม่กี่ชั่วโมงสุดท้ายของการประชุม มีการเผยแพร่ร่างข้อตกลง COP28 ซึ่งมีการแก้ไขตัดคำพูดที่เกี่ยวข้องกับการค่อยๆ สิ้นสุดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลออกไปจนหมด ทำให้นักเคลื่อนไหวออกมาประณามว่าข้อตกลงถูกเจือจางจนอาจไม่สามารถหยุดยั้งวิกฤติความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้

จากนั้น ด.ญ. ไลซีปริยา คันกูจาม นักเคลื่อนไหวด้านสภาพอากาศชาวอินเดียวัยเพียง 12 ปี บุกขึ้นไปบนเวทีพร้อมกับป้ายข้อความว่า “ยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ช่วยโลกของเราและอนาคตของเรา”

กลุ่มนักเคลื่อนไหวและองค์กรด้านประชาสังคมที่มาร่วมงานประชุมในปีนี้กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า โอกาสที่เสียงของพวกเขาจะถูกรับฟังโดยที่ประชุม COP นั้นลดน้อยลงทุกปี

“ที่ผ่านมามักมีข้อจำกัดมากมายบนเวทีสาธารณะภายในงาน COP แต่เรากำลังเห็นเทรนด์นี้เพิ่มสูงขึ้นมาก” ลิซา แมสสัน นักเคลื่อนไหวจากกลุ่ม Friends of the Earth International บอกกับสำนักข่าว เอพี “เราต้องแจ้งว่าจะใช้เสียงดังแค่ไหน จะเขียนอะไรบนป้าย เราไม่ได้รับอนุญาตให้ระบุชื่อประเทศและองค์กร มันจึงเป็นพื้นที่ที่ถูกจำกัดมากจริงๆ”

...

บรรลุข้อตกลงชดเชยความเสียหายจากโลกร้อนแก่ชาติยากจน แต่มีทุนเพียงเล็กน้อย

ในวันแรกของการประชุม COP28 เหล่าผู้นำสร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการประกาศข้อตกลงจัดตั้ง “กองทุนชดเชยค่าความเสียหายและความสูญเสีย” ซึ่งนับเป็นกองทุนแรกของโลกที่มีเป้าหมายเพื่อ จ่ายเงินชดเชยค่าผลกระทบที่ไม่อาจย้อนคืนจากหายนะทางสภาพอากาศ ให้แก่ประเทศยากจนและเปราะบาง

ชาติร่ำรวยหลายประเทศ ซึ่งต้องมีส่วนรับผิดชอบในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น สหราชอาณาจักร, สหรัฐฯ และเยอรมนี ประกาศออกทุนสนับสนุนรวม 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แต่เงินทุนดังกล่าวนับว่าเล็กน้อยมาก เนื่องจากผลการศึกษาหลายชิ้นชี้ว่า ความเสียหายและความสูญเสียในประเทศกำลังพัฒนาทะลุ 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีไปแล้ว แต่เงินทุนสนับสนุนกองทุนนี้กลับมีไม่ถึง 0.2% ของประมาณความต้องการทั้งหมดด้วยซ้ำ

ที่ย้อนแย้งก็คือ ตลอดช่วง 2 สัปดาห์ของการประชุม COP28 อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติกลับทำกำไรได้มากถึง 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่กองทุนช่วยเหลือกลับได้รับเงินสนับสนุนเพียง 1% ของกำไรที่ว่าเท่านั้น

...

โคลอมเบียกร่วมเรียกร้องออกสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายเชื้อเพลิงฟอสซิล

โคลอมเบียกลายเป็นชาติลาตินอเมริกันประเทศแรก ที่ลงนามเข้าร่วมกับกลุ่มชาติพันธมิตรโลกเพื่อเรียกร้องให้มีการทำสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายเชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil Fuel Non-Proliferation Treaty) โดยมีประเทศ ปาเลา, ซามัว และ นาอูรู เจริญรอยตาม ซึ่งเป็นการบ่งชี้ว่า สนธิสัญญานี้ได้รับการสนับสนุนในเวทีสภาพอากาศโลกมากขึ้นเรื่อยๆ

การเงินลวงหลอกตา

นักวิเคราะห์ของ Global Citizen องค์กรการศึกษาระหว่างประเทศเพื่อยุติความยากจน ชี้ว่าเรื่องเกี่ยวกับ การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance) มีการลวงหลอกตามากมาย และเบื้องหลังเงินพันล้านดอลลาร์ที่หลายประเทศสัญญาจะมอบให้เพื่อสมทบทุน ก็มักเป็นการรีไซเคิลมาจากสัญญาเก่าๆ

เช่น เงินทุนสำหรับกองทุนเพื่อการปรับตัว (Adaptation Fund) สำหรับช่วยสังคมเปราะบางในประเทศกำลังพัฒนาปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ที่ประชุม COP28 ประกาศสมทบทุนเข้าไปอีก 133.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งดูเหมือนจะเพิ่มขึ้น แต่ความจริงแล้ว เงินของกองทุนนี้ลดลงไป 14% หรือราว 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2564 และเงินที่เพิ่มเข้ามาก็น้อยกว่า 14% นั้นมาก

ในการประชุม COP ครั้งล่าสุดนี้ สหรัฐฯ สัญญาจะสมทบทุน 3 พันล้านดอลลาร์เข้ากองทุนสภาพอากาศสีเขียว (Green Climate Fund : GCF) ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่คำสัญญานี้จะกลายเป็นจริงได้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาคองเกรส ซึ่งเป็นไปได้น้อยมากที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน จะกล่อมฝ่ายรีพับลิกันให้ร่วมมือได้

ขณะที่ นางเคลลี สตีน จากองค์กรช่วยเหลือ ActionAid USA ชี้ว่า สหรัฐฯ ยังไม่ได้มอบเงินสมทบทุนจำนวน 1 พันล้านดอลลาร์จากทั้งหมด 3 พันล้านดอลลาร์ที่เคยสัญญาไว้ในยุคประธานาธิบดี บารัค โอบามา ซึ่งหมายความว่า เงินสมทบทุนก้อนใหม่ของสหรัฐฯ อยู่ที่ 2 พันล้านดอลลาร์เท่านั้น

...

เปิดตัวหน่วยงานเฉพาะกิจเก็บภาษีมลพิษระหว่างประเทศ

ที่การประชุม COP28 ยังมีการเปิดตัวองค์กรเฉพาะกิจเพื่อการเก็บภาษีระหว่างประเทศ โดยมี เคนยา, ฝรั่งเศส, สเปน, ประเทศแอนติกาและบาร์บูดา, บาร์บาโดส, สหภาพแอฟริกา และคณะมนตรียุโรป เข้าร่วม โดยมีหน้าที่คือ เก็บภาษีมลภาวะจากอุตสาหกรรม เช่น การขนส่งทางเรือและทางอากาศ และใช้เงินเหล่านั้นในการต่อสู้กับวิกฤติสภาพอากาศ

แผนการนี้มีจุดประสงค์ 2 อย่างคือ ทำให้ผู้ปล่อยมลภาวะต้องเสียเงินเพิ่มขึ้นในการปล่อยมลภาวะ กระตุ้นให้พวกเขาหาวิธีการที่สะอาดมากขึ้น และนำเงินภาษีที่ได้มาสร้างกองทุนช่วยเหลือประเทศต่างๆ โดยเฉพาะชาติที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ทั้งที่ไม่ได้เป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่

130 ประเทศตกลงเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน 3 เท่า

ผู้แทนจากกว่า 130 ประเทศที่มาร่วมการประชุม COP28 เห็นชอบร่วมกันว่าจะเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเป็น 2 เท่า ภายในปี 2573 ขณะที่บริษัทผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอย่างน้อย 50 แห่ง ตกลงจะตัดลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการใช้มีเทนทั้งหมดภายในปี 2593

อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) เปิดเผยว่า คำสัญญาตัดลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นนี้ ก็ยังห่างไกลจากการทำให้โลกกลับไปอยู่บนเส้นทางของการรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ไม่ให้เพิ่มขึ้นจากยุคก่อนอุตสาหกรรมเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

ตามการคำนวณของ IEA มาตรการดังกล่าวจะลดช่องว่างการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน ระหว่างเส้นแนวโน้มปัจจุบัน กับเส้นแนวโน้มในอุดมคติได้ราว 1 ใน 3 เท่านั้น

ยังไม่ถอดใจ คุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

ทีมเจรจาของประเทศต่างๆ ยังคงยืนยันว่า การรักษาค่าเฉลี่ยอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นจากยุคก่อนอุตสาหกรรมเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ยังเป็นสิ่งที่ทำได้ ขณะที่นายจอห์น เคอร์รี ทูตสภาพอากาศจากสหรัฐฯ ย้ำว่า “เราต้องทำให้เป้าหมาย 1.5 องศาฯ อยู่ภายในเอื้อมมือของเรา”

แต่ในความเป็นจริง หน้าต่างแห่งโอกาสกำลังจะปิดลงแล้ว และคำมั่นสัญญาที่เกิดขึ้นในการประชุม COP28 ก็ไม่เพียงพอจะสร้างความเปลี่ยนแปลง

ปี 2566 เป็นปีแรกที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นไปแตะ 1.5 องศาเซลเซียส แต่ภายในไม่กี่ปี ตัวเลข 1.5 อาจกลายเป็นค่าเฉลี่ย ซึ่งการหลีกเลี่ยงสถานการณ์นี้ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกต้องลดลง 43% ภายในปี 2573 แต่ปัจจุบันการปล่อยก๊าซฯ ก็ยังคงเพิ่มขึ้น

นางแอน ราสมุสเซน หัวหน้าทีมเจรจาจากกลุ่มพันธมิตรรัฐหมู่เกาะ (Alliance of Small Island States) ซึ่งเป็นผู้แทนของประเทศซามัว กล่าวว่า ผลการประเมินล่าสุดชี้ว่า หากเป็นเช่นนี้ต่อไป ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกจะลดลงเพียง 2% ในสิ้นทศวรรษนี้ และถึงแม้ว่านานาประเทศจะมีคำมั่นสัญญาที่รุนแรงขึ้นเพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ก็มีช่องโหว่มากมายให้หลบเลี่ยง

ความท้าทายใหญ่หลวงที่ประเทศต่างๆ กำลังเผชิญก็คือการทำตามคำพูด พวกเขาต้องเผยแพร่รายงานที่มีความโปร่งใส เรื่องความคืบหน้าด้านสภาพอากาศของตัวเองทุกๆ 2 ปี โดยกำหนดส่งฉบับแรกจะมาถึงในช่วงสิ้นปี 2567 พวกเขายังต้องกลับมาประชุมกันอีกครั้งเพื่อหารือเรื่องการตัดลดก๊าซเรือนกระจกอย่างมากภายในปี 2568

แต่ก็เกิดคำถามขึ้นตามมาคือ พวกเขาจะตั้งเป้าหมายที่ทะเยอทะยานกว่าเดิมไปทำไม ในเมื่อเป้าหมายปัจจุบันยังทำไม่ได้





ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี

ที่มา : globalcitizen, vox