ผู้นำสหภาพยุโรปล้มเหลวในการทำข้อตกลงเรื่องแพ็กเกจเงินช่วยเหลือระยะยาวมูลค่า 5 หมื่นล้านยูโรแก่ยูเครน หลังผู้นำฮังการี ซึ่งเป็นมิตรกับรัสเซีย ไม่ยอมประนีประนอม

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ผู้นำชาติสมาชิกสหภาพยุโรปทั้ง 27 ประเทศ ประชุมร่วมกันเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 ธ.ค. 2566 เพื่อทบทวนปรับปรุงแผนงบประมาณระยะยาวมูลค่า 1 แสนล้านยูโร ของสหภาพยุโรป หรือที่เรียกว่า ‘กรอบการเงินสำหรับหลายปี’ (Multiannual Financial Framework : MFF)

แต่การประชุมยืดเยื้อไปจนถึงเช้าวันศุกร์ที่ 15 ธ.ค. 2566 เพื่อเจรจาทำข้อตกลงแพ็กเกิจเงินช่วยเหลือมูลค่า 5 หมื่นล้านยูโร ที่จะมอบให้แก่ยูเครนไปจนถึงปี 2570 ซึ่งจะเพิ่มเข้าไปในกรอบการเงินดังกล่าว และต้องได้รับความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ของชาติสมาชิก EU ทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี วิกตอร์ ออร์บาน ของฮังการี ยืนกรานปฏิเสธก่อนจะเดินออกจากที่ประชุมในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ทำให้การประชุมสิ้นสุดลงด้วยความล้มเหลว

ทั้งนี้ แพ็กเกิจเงินช่วยเหลือดังกล่าวประกอบด้วย การปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจำนวน 3.3 หมื่นล้านยูโรให้ยูเครน และมอบเงินให้เล่าให้อีก 1.7 หมื่นล้านยูโร ซึ่งหลายประเทศมองว่า ค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มเข้ามานั้นมากเกินไป และพยายามต่อรองให้ลดปริมาณลง

อย่างไรก็ตาม นาย ชาร์ลส์ มิเชล ประธานคณะมนตรียุโรป บอกกับผู้สื่อข่าวในช่วงเช้าวันศุกร์ว่า ชาติสมาชิก EU ทุกประเทศนอกจากฮังการี เห็นชอบร่วมกันในทุกองค์ประกอบของการปรับปรุงกรอบการเงิน MFF ร่วมเงินเรื่องเงินช่วยเหลือยูเครน แม้ว่าสวีเดนต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนจึงจะให้ไฟเขียวได้ก็ตาม

แต่แม้จะประสบความล้มเหลว เหล่าผู้นำ EU ยังมีโอกาสที่ 2 ในการบรรลุข้อตกลง ที่การประชุมสุดยอด สมัยวิสามัญ ที่คาดว่าจะจัดขึ้นในเดือนมกราคม 2567 ซึ่งนายมิเชลกล่าวว่าพวกเขาจะพยายามเพื่อให้ได้รับความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ให้ได้ แต่ก็ไม่ตัดความเป็นไปได้ที่ชาติสมาชิก 26 ประเทศจะผลักดันข้อตกลงโดยไม่มีฮังการี

...

ผู้นำหลายคนก็ส่งสัญญาณว่าพร้อมสนับสนุนแพ็กเกจที่ไม่รวมฮังการี เพื่อหลบเลี่ยงการวีโตของนายออร์บาน โดยนายกรัฐมนตรีเอสโตเนียบอกกับสื่อว่า เหล่าผู้นำกำลังหารือเกี่ยวกับความคิดนี้ แต่ยอมรับว่า ระดับความยากจะเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากต้องคิดกลไกใหม่ และต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา และอื่นๆ

ด้านนาย ลีโอ วารัดคาร์ นายกรัฐมนตรี ไอร์แลนด์ กล่าวว่า เป็นไปได้ที่ชาติสมาชิก 26 ประเทศจะให้เงินช่วยเหลือแบบทวิภาคี ไม่ได้ผ่าน MFF ไม่ได้ผ่านโครงสร้างของสหภาพยุโรป แต่พวกเขาไม่ต้องการไปจนถึงจุดนั้น

อนึ่ง ยูเครนต้องพึ่งพาความช่วยเหลือทางการเงินอย่างหนักจากสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ในขณะที่การต่อสู้กับรัสเซียยังไม่มีท่าทีว่าจะจบลง ซึ่งความล่าช้าในการออกงินช่วยเหลือ จะส่งผลอย่างหนักต่องบประมาณของยูเครน ที่นอกจากต้องใช้ในสงครามแล้ว ยังต้องใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ รวมถึงเงินเดือนครู หรือเงินบำนาญแพทย์ เป็นต้น

ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign

ที่มา : euronews