ที่ประชุม COP28 บรรลุข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ ‘เปลี่ยนผ่าน’ การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นครั้งแรก หวังลดความเลวร้ายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หลังต้องต่อเวลาการประชุมออกมาอีกหนึ่งวัน
เมื่อวันพุธที่ 13 ธ.ค. 2566 ในที่สุด การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 28 หรือ COP28 ที่นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งมีชาติสมาชิกเกือบ 200 ประเทศ สามารถบรรลุข้อตกลง ‘เปลี่ยนผ่าน’การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เพื่อพยายามไม่ให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกเลวร้ายลงไปกว่านี้ และจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงกว่าก่อนยุคอุตสาหกรรม เกิน 1.5 องศาเซลเซียส
การบรรลุข้อตกลงที่สร้างความยินดีเป็นอย่างยิ่งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่ประชุม COP28 ต้องขยายเวลาการประชุมออกไปอีกหนึ่งวัน เนื่องจากไม่สามารถบรรลุตกลงกันได้เกี่ยวกับร่างข้อตกลง จากกำหนดเดิมของการประชุม COP28 ที่ต้องปิดการประชุมในวันที่ 12 ธ.ค. หลังจากเริ่มการประชุมเมื่อ 30 พ.ย. 2566
...
สุลต่านบิน อาห์เหม็ด อัล จาเบอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บรรษัทบริหารธุรกิจน้ำมัน Adnoc ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากทางการสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ให้เป็นประธาน COP28 เรียกการบรรลุข้อตกลงเปลี่ยนผ่านการใช้ฟอสซิลนี้ เป็นข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ แต่ก็กล่าวเพิ่มเติมว่า ความสำเร็จที่แท้จริงของข้อตกลงนี้คือการปฏิบัติให้สำเร็จ
‘พวกเรามีภาษาสำหรับเชื้อเพลิงฟอสซิลในข้อตกลงสุดท้าย ของพวกเราเป็นครั้งแรกเท่าที่เคยเกิดขึ้น’ สุลต่านอัล จาเบอร์ กล่าวด้วยความดีใจ ในขณะที่เจ้าหน้าที่จากทั่วโลกมีความเห็นว่าการที่ที่ประชุม COP28 บรรลุข้อตกลงเปลี่ยนผ่านการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้ทุกประเทศมุ่งไปสู่การยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
ทั้งนี้ กว่าที่สมาชิกทุกประเทศของที่ประชุม COP28 จะบรรลุข้อตกลงเปลี่ยนผ่านการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เนื่องจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น มีการแก้ไขภาษาที่ใช้ในร่างข้อตกลงหลายครั้ง โดยกว่า 100 ประเทศ รวมถึงสหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร รวมถึงประเทศหมู่เกาะขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภาวะโลกร้อน สนับสนุนให้ใช้ถ้อยคำที่หนักแน่นว่า ‘ยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล’
แต่ชาติสมาชิกองค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน หรือ OPEC (โอเปก) รวมถึงซาอุดีอาระเบีย มีความเห็นว่า การใช้คำให้ ‘ยุติ’ การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล นั่นเป็นคำที่แรงเกินไป ก่อนจะมีการแก้ไขเป็นคำว่า ‘ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล’ แต่ก็ถูกคัดค้าน กระทั่งสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้เมื่อเปลี่ยนมาใช้คำว่า ‘เปลี่ยนผ่าน’ ในท้ายที่สุด