อีเวนต์สำคัญในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และเป็นที่จับตาของทั่วโลกก็คือ การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 28 (COP28) ที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งประเด็นที่ถูกถามขึ้นอย่างหนักหน่วงก็คืออนาคตของเชื้อเพลิงฟอสซิลหรือเชื้อเพลิงที่ได้มาจากการทับถมของซากสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าเป็นพืช สัตว์ ที่ล้มหายตายจากและฝังร่างอยู่ใต้ดินรวมถึงใต้ทะเลลึกมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ ผลผลิตที่ได้มาก็เช่น ถ่านหิน น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งประโยชน์ของเชื้อเพลิงเหล่านี้มีอย่างอักโข แต่ก็นำมาซึ่งปัญหาอันใหญ่หลวง
เพราะเมื่อเชื้อเพลิงฟอสซิลถูกเผาไหม้ สิ่งที่ถูกปล่อยออกมาก็คือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซเรือนกระจก เมื่อลอยขึ้นไปที่ชั้นบรรยากาศโลก พวกมันไม่ได้สูญสลายหายไป แต่คงค้างอยู่บนนั้น แถมยังดักจับและกักเก็บความร้อนได้ดีด้วย เป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของโลก เช่น เกิดพายุหรือสภาพอากาศสุดขั้วอื่นๆ
ที่ผ่านๆมา มีความเห็นพ้องจากหลายภาคส่วนว่าการยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและการขยายขนาดพลังงานหมุนเวียน มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการรักษาความหวังที่จะไม่ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกพุ่งเกินเกณฑ์ 1.5 องศาเซลเซียส หนทางข้างหน้านั้นยากยิ่งและใหญ่หลวง ต้องอาศัยความกล้าหาญ ความเชื่อมั่น กุญแจสำคัญก็คือประเทศที่ร่ำรวยจำเป็นต้องให้การสนับสนุนทางการเงินและเทคโนโลยี เพื่อให้ความหวังนั้นเกิดขึ้นให้ได้
ขณะเวทีโลก COP28 ดำเนินไป ส่วนอื่นๆ ของโลกก็มีประเด็นพูดคุยถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในแบบคู่ขนานที่ไทย เมื่อกลางสัปดาห์ก่อน สถานเอกอัครราชทูต เยอรมนี ประจำประเทศไทย ก็เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงจัดพื้นที่แลกเปลี่ยนในเรื่องนี้กับงาน “Climate Talk” ชักชวนนักการเมือง, ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันศึกษา, เครือข่ายอากาศสะอาด, สื่อมวลชน และตัวแทนภาคธุรกิจเอกชน มาร่วมถกแนวคิด ประสบการณ์ และหนทางที่จะบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วนและการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนในไทย อธิบายถึงผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ พร้อมกันนี้ก็นำเสนอเวิร์กช็อปให้ผู้เข้าร่วมงานเข้าใจถึงพลังงานสีเขียว และทำกิจกรรมเกี่ยวกับทางเลือกใหม่ของพลังงานสะอาด โดยเฉพาะการเน้นในเรื่องของพลังงานไฮโดรเจน
...
และนอกจากจะรอการไฟเขียว พ.ร.บ. อากาศสะอาดจากรัฐบาล ที่สำคัญคืออยู่แต่ละบุคคลในสังคมก็ควรต้องปรับความคิดและเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของตนเอง หรืออย่างน้อยๆ ก็ต้องรู้ว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” คืออะไรก่อน!
ภัค เศารยะ
คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม