ในแต่ละปีมีประชากรหลายแสนคนจากทั่วโลกเสียชีวิตจากโรคมาลาเรียและโรคอื่นๆที่มียุงเป็นพาหะ ซึ่งยุงเป็นหนึ่งในแมลงที่สืบทอดเผ่าพันธุ์มาตั้งแต่ยุคไดโนเสาร์ เมื่อเร็วๆนี้มีรายงานการค้นพบครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์วิวัฒนาการของยุง ก่อนหน้านี้มีการศึกษาระบุว่าเพศเมียมีกายวิภาคของปากแบบพิเศษ แต่ยุงเพศผู้ไม่มี โดยนักวิจัยสงสัยมานานแล้วว่ายุงวิวัฒนาการมาจากแมลงที่ไม่กินเลือด พร้อมตั้งสมมติฐานว่าปากดูดเลือดนั้น แต่เดิมน่าจะใช้เจาะต้นไม้เพื่อเข้าถึงของเหลวที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และวิวัฒนาการของพืชอาจมีบทบาทในการให้อาหารที่แตกต่างกันระหว่างยุงเพศผู้และเพศเมีย

ตามปกติยุงตัวเมียที่กำลังมีครรภ์เท่านั้นที่จะดูดเลือด เพราะพวกมันต้องการโปรตีนเพื่อทำให้ไข่พัฒนาขึ้น ซึ่งยุงเพศผู้และเพศเมียที่ไม่ได้ถูกผสมพันธุ์พวกมันจะกินน้ำหวานจากพืช และยุงเพศผู้บางตัวก็ไม่กินอาหารเลย ทว่าล่าสุด ทีมวิจัยจากสถาบันธรณีวิทยาและบรรพชีวินวิทยาหนานจิง แห่งสภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน และมหาวิทยาลัยเลบานอน ในเลบานอน เผยผลการศึกษาซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลยุงที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยพบมาระบุว่า เป็นยุงเพศผู้ 2 ตัวฝังอยู่ในชิ้นอำพันที่มีอายุ 130 ล้านปีจากยุคครีเตเชียส พบใกล้เมืองฮัมมานาในเลบานอน ฟอสซิลยุงนี้ทำให้ทีมวิจัยประหลาดใจมาก เนื่องจากยุงตัวผู้ มีปากดูดแบบเจาะแบบเพศเมีย ทีมบอกอย่างมั่นใจว่ายุงเพศผู้โบราณนี้เป็น hematophagous หรือแมลงที่กินเลือดเป็นอาหาร

...

ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลกเผยว่า ยุงมีมากกว่า 3,500 สายพันธุ์ทั่วโลก พบได้ทุกที่ ยกเว้นแอนตาร์ก ติกา ยุงบางชนิดเป็นพาหะนำโรค เช่น มาลาเรีย ไข้เหลือง ไข้ซิกา ไข้เลือดออก ฯลฯ โดยในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากโรคมาลาเรีย มากกว่า 400,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่