ขยะพลาสติกคิดเป็น 80% ของมลพิษทางทะเลทั้งหมด มีขยะพลาสติก 8–10 ล้านเมตริกตันลงสู่มหาสมุทรในแต่ละปี ตามรายงานของสภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ ทว่าอุปกรณ์เก็บรวบรวมพลาสติกส่วนใหญ่จะอาศัยตาข่ายลากหรือสายพานลำเลียง เพื่อกวาดเอาเศษพลาสติกขนาดใหญ่ออกจากน้ำ แต่ไม่มีอุปกรณ์ที่ใช้เก็บไมโครพลาสติก อนุภาคเล็กๆของพลาสติกเหล่านี้จะถูกสัตว์ทะเลกลืนกินเข้าไปและจบลงในเนื้อเยื่อของมัน จากนั้นก็เข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร สิ่งนี้กลายเป็นปัญหาด้านสุขภาพและอาจก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์

ล่าสุด ทีมนักวิทยาศาสตร์จากภาควิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและชีววิทยา มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ สหรัฐอเมริกา ได้พัฒนาต้นแบบหุ่นยนต์ที่ได้แรงบันดาลใจจากหอยทากตัวเล็กๆ ทีมอธิบายว่าการออกแบบของหุ่นยนต์มีพื้นฐานมาจากหอยเชอรี่พันธุ์แอปเปิล ฮาวาย (Hawaiian apple snail) โดยใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติเพื่อสร้างแผ่นคล้ายพรมที่มีความยืดหยุ่นและเป็นโค้งคลื่นได้ โครงสร้างที่เป็นเกลียวที่ด้านล่างของแผ่นจะหมุนเหมือนเกลียวเพื่อทำให้พรมกระเพื่อม จากนั้นก็สร้างคลื่นเคลื่อนที่บนน้ำ ซึ่งระบบเปิดของหุ่นยนต์จะมีลักษณะคล้ายเทคนิคการเปิดสู่อากาศของหอยทาก เพื่อดูดน้ำหรืออนุภาค ซึ่งหุ่นยนต์ตัวต้นแบบแม้จะเล็ก แต่ก็ใช้ไฟฟ้าเพียง 5 โวลต์โดยดูดน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากน้ำหนักของแบตเตอรี่และมอเตอร์ นักวิจัยเผยว่าอาจจำเป็นต้องติดอุปกรณ์ลอยน้ำเข้ากับหุ่นยนต์เพื่อป้องกันไม่ให้จม ซึ่งเชื่อว่าสักวันหนึ่งหุ่นยนต์ชนิดนี้อาจเก็บขยะจิ๋วพวกไมโครพลาสติกจากพื้นผิวมหาสมุทร ทะเล และทะเลสาบได้.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่