- เวียดนาม ยังคงครองแชมป์ทำแท้งในอัตราที่สูงที่สุดในเอเชีย และสูงสุดเป็นอันดับสองของโลก สืบเนื่องมาจากประชาชนยังคงนิยมเลือกเพศลูก โดยต้องการจะมีลูกชายมากกว่าลูกสาว
- วัฒนธรรมเวียดนามยังคงได้รับอิทธิพลจากลัทธิขงจื๊อ และคู่รักมักมีแนวโน้มที่อยากจะได้ลูกชาย เพราะเชื่อว่าลูกชายจะมาช่วยสืบทอดทรัพย์สมบัติของครอบครัว มาดูแลพ่อแม่ที่แก่ชรา และประกอบพิธีกรรมเพื่อยกย่องบรรพบุรุษได้ดีกว่าลูกสาว
- จากข้อมูลการสำรวจสำมะโนประชากรของเวียดนามพบว่า เวียดนาม จะมีประชากรที่เป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิงถึง 1.5 ล้านคน ภายในปี 2034 และจะเพิ่มไปอีกราว 4.3 ล้านคน ภายในปี 2050 หากอัตราการเลือกเพศของบุตรยังสูงเหมือนในปัจจุบันนี้
จากข้อมูลล่าสุดของ องค์การสหประชาชาติ พบว่า เวียดนาม มีอัตราการทำแท้งสูงที่สุดเป็นอันดับสองของโลก ด้วยอัตราการทำแท้ง 35.2 ต่อประชากรหญิง 1,000 คน รองจากรัสเซียที่มีอัตราการทำแท้งมากที่สุดในโลกด้วยอัตรา 53.7 ต่อประชากรหญิง 1,000 คน โดยการทำแท้งเป็นเรื่องที่ถูกกฎหมายในทั้งสองประเทศ
ปัญหาการเลือกเพศบุตรที่เกิดขึ้นในเวียดนามยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของความสมดุลของประชากรเวียดนามมาต่อเนื่องยาวนานหลายสิบปี ตราบใดที่ครอบครัวส่วนใหญ่ยังคงให้ความสำคัญกับการเลือกเพศของบุตรที่จะต้องเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง อัตราการทำแท้งบุตรที่ไม่ได้เกิดมามีเพศตรงตามความต้องการก็ยังคงพุ่งสูงต่อไป เนื่องจากการทำแท้งเป็นเรื่องถูกกฎหมายในเวียดนามมาตั้งแต่ช่วงปี 1960 ซึ่งแม้ว่าการทำแท้งโดยเหตุผลที่ต้องการจะเลือกเพศจะผิดกฎหมาย แต่พ่อแม่ก็มักหาวิธีการหลบเลี่ยง และทำทุกวิถีทางให้ได้ลูกชายจนได้
...
วัฒนธรรมเวียดนามยังคงได้รับอิทธิพลอย่างมากจากลัทธิขงจื๊อ โดยคู่สามีภรรยามักมีแนวโน้มที่อยากจะได้ลูกชาย เพราะลูกชายจะมาช่วยสืบทอดทรัพย์สมบัติของครอบครัว พาภรรยามาดูแลพ่อแม่ที่แก่ชรา และประกอบพิธีกรรมเพื่อยกย่องบรรพบุรุษได้ดีกว่าลูกสาว ขณะที่ลูกสาวเมื่อแต่งงานไปก็ต้องออกจากบ้านไปอยู่กับครอบครัวสามี
จากข้อมูลการสำรวจสำมะโนประชากรของเวียดนามพบว่า เวียดนามจะมีประชากรที่เป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิงถึง 1.5 ล้านคน ภายในปี 2034 และจะเพิ่มขึ้นอีกราว 4.3 ล้านคน ภายในปี 2050 หากอัตราการเลือกเพศของบุตรยังสูงเหมือนในปัจจุบันนี้ ขณะที่ข้อมูลทางสถิติที่เผยแพร่ในปี 2022 พบว่า อัตราการเกิดของเพศชายต่อเพศหญิงเพิ่มขึ้นเป็น 112.1 ต่อ 100 จากในปี 2006 ที่อัตราการเกิดระหว่างเพศชาย และหญิง อยู่ที่ 109 ต่อ 100 คน
ดร.หง ผู้อํานวยการสถาบันเพื่อการพัฒนาสังคมศึกษาในกรุงฮานอยระบุว่า เวียดนาม จะต้องเผชิญปัญหาเดียวกับที่จีนเคยเผชิญมาก่อน เพราะผู้ชายจะมีปัญหาในการหาภรรยา ซึ่งปัญหานี้จะกลายเป็นปัญหาสังคมของเวียดนาม ทั้งปัญหาการค้าประเวณี และการค้ามนุษย์ต่อไปในอนาคต
ขณะที่ กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ เปิดเผยว่า เวียดนาม มีการทำแท้งราว 300,000 เคสต่อปี ซึ่งคาดว่าตัวเลขที่แท้จริงที่ไม่ได้บันทึกเป็นสถิติน่าจะสูงกว่านี้มาก ขณะที่หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของเวียดนามระบุว่า ตัวเลขการทำแท้งจริงๆ ของเวียดนามน่าจะอยู่ที่ราว 1.2-1.6 ล้านเคสต่อปี
สำหรับซากของตัวอ่อนเพศหญิงที่ถูกทำแท้งในเวียดนามจะถูกนำไปฝังในสุสานตามประเพณี โดยทางตอนเหนือของเวียดนามจะมีสุสานขนาดใหญ่ที่สุดที่ใช้สำหรับฝังตัวอ่อนที่ถูกทำแท้งโดยเฉพาะ โดยสุสานแห่งนี้มีพื้นที่กว้างใหญ่มากกว่า 1,000 ตารางเมตร และต้องรับตัวอ่อนมาฝังราว 15-20 ร่างต่อวัน โดย 9 ใน 10 ของตัวอ่อนจะเป็นเพศหญิง
ที่สุสานแห่งนี้จะมีตู้แช่แข็งขนาดใหญ่ความจุขนาด 400 ลิตร 2 ตู้ ที่เก็บซากตัวอ่อนของเด็กราว 300 ร่าง ขณะที่บริเวณสุสานด้านนอกจะเต็มไปด้วยหลุมฝังศพที่แน่นขนัด โดยตามประเพณีของเวียดนาม ผู้เสียชีวิตจะถูกฝังไว้อย่างน้อย 3 ปี หลังจากนั้นกระดูกของพวกเขาจะถูกขุดขึ้นมา และนำมาบรรจุไว้ในโถอัฐิ ซึ่งโถดินเหนียวขนาดเล็กเหล่านี้ก็จะใช้ในการฝังร่างซากของเด็กที่ไม่ได้ลืมตามาดูโลกเหล่านี้ด้วย โดยหลุมศพส่วนใหญ่จะเป็นหลุมฝังแบบหมู่ บางหลุมอาจจะมีตัวอ่อนทารกถูกฝังอยู่ด้วยกันมากถึง 10,000-30,000 ร่าง
นอกจากปัญหาการทำแท้งเพราะการเลือกเพศแล้ว กระทรวงสาธารณสุขของเวียดนาม ยังชี้ด้วยว่า ปัญหาการขาดความรู้ในด้านเพศศึกษาก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้อัตราการทำแท้งในกลุ่มวัยรุ่นสูงขึ้นด้วยเช่นกัน เนื่องจากเยาวชนปัจจุบันมีความคิดเปิดกว้างมากขึ้นในเรื่องเพศ การรักนวลสงวนตัวลดลง เมื่อมีเพศสัมพันธ์โดยไม่พร้อมและพลาดตั้งครรภ์ ก็นำไปสู่การทำแท้งโดยสมัครใจ โดยจากข้อมูลการวิจัยพฤติกรรมของเด็กวัยรุ่นในเวียดนามของกระทรวงสาธารณสุขเวียดนาม และองค์การอนามัยโลก พบว่าในช่วง 6 ปีที่ผ่านมามีจำนวนของเด็กวัยเรียนมีเพศสัมพันธ์ก่อนอายุ 14 ปี เพิ่มมากขึ้นเป็นสองเท่า โดยเพิ่มจาก 1.45 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2013 มาเป็น 3.51 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2019
...
ขณะเดียวกัน ดร.เหงียน ที เย็น ที่ทำงานในศูนย์อนามัยการเจริญพันธุ์ในกรุงฮานอย ระบุว่า หญิงที่แต่งงานแล้วที่มาปรึกษาที่ศูนย์ฯ มักจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การเลี้ยงดูลูกทุกวันนี้มีค่าใช้จ่ายสูงมาก ทำให้คนนิยมมีลูกกันน้อยลง และในบางเคสหากเกิดการตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจขึ้น ก็มักจะลงเอยด้วยการทำแท้งเช่นกัน โดยอัตราการตั้งครรภ์ในเวียดนามลดลงเกือบครึ่ง จากอัตราเด็ก 3.8 คน ต่อผู้หญิง 1 คน ในปี 1989 มาอยู่ที่เด็ก 2.1 คน ต่อผู้หญิง 1 คน ในปี 2021 อย่างไรก็ตามยังมีผู้หญิงอีกจำนวนไม่น้อยที่ถูกบังคับให้ตั้งครรภ์หลายครั้ง เพื่อให้ได้ลูกชายให้ได้ ขณะที่บางรายก็ถูกบังคับให้ต้องทำแท้งอีกหลายครั้งเพื่อให้ได้ลูกชายตามที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ ซึ่งแม้การทำแท้งจะถือเป็นเรื่องปกติ แต่ก็ไม่ใช่ประสบการณ์อันน่าจดจำสำหรับผู้หญิง โดยพบว่ามีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่ต้องทนทุกข์ทรมานทั้งทางร่างกาย และจิตใจ ซึ่งเป็นผลมาจากการทำแท้งโดยที่เธอไม่ได้สมัครใจ.
ผู้เขียน : อาจุมมาโอปอล
...
คลิกอ่านข่าว "รายงานพิเศษไทยรัฐออนไลน์"