ดวงอาทิตย์หรือแม้แต่ดาวฤกษ์อื่นๆ ก่อตัวขึ้นเมื่อกลุ่มเมฆก๊าซและฝุ่นระหว่างดวงดาวที่หนาแน่น ยุบตัวลงภายใต้แรงดึงดูดของมันเอง เมื่อดาวดวงหนึ่งถือกำเนิดขึ้นที่ใจกลางกลุ่มเมฆก๊าซ วัสดุที่เหลือจะก่อตัวเป็นจานหมุนรอบดาวฤกษ์ เพื่อหล่อเลี้ยงการเติบโตของดาวฤกษ์ และจานหมุนมักจะเป็นแหล่งก่อเกิดดาวเคราะห์

ที่ผ่านมาดาวฤกษ์เกิดใหม่ที่มีจานทรงกลมหมุนรอบ มักถูกสังเกตการณ์เฉพาะในกาแล็กซีทางช้างเผือกของเราเท่านั้น แต่เมื่อเร็วๆนี้นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเดอรัม ในอังกฤษ เผยว่า จากการใช้เครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดยักษ์อัลมา (Atacama Large Millimeter/submillimeter Array-ALMA) ก็ได้ค้นพบจานฝุ่นก๊าซกำลังหมุนรอบดาวฤกษ์ดวงหนึ่งชื่อ HH 1177 ดาวดวงนี้มีขนาดใหญ่กว่าและส่องสว่างมากกว่าดวงอาทิตย์ของเรา ตั้งอยู่ในกาแล็กซีเพื่อนบ้านใกล้เคียงที่สุดแห่งหนึ่งของทางช้างเผือก นั่นก็คือกาแล็กซีเมฆแมกเจลแลนใหญ่ ดาวฤกษ์ที่กำลังเติบโตดวงนี้มีการสะสมสสารจากจานฝุ่นก๊าซที่วนรอบๆ โดยมีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ประมาณ 10-20 เท่า และอาจส่องสว่างมากกว่าดวงอาทิตย์ถึง 10,000 เท่า

...

นักดาราศาสตร์อธิบายว่า เมื่อสสารถูกดึงดูดด้วยแรงโน้มถ่วงไปยังดาวฤกษ์ที่กำลังก่อตัว มันก็จะมีลักษณะเรียบแบนจนกลายเป็นจานหมุน ซึ่งจานฝุ่นก๊าซที่ค้นพบในกาแล็กซีเมฆแมกเจลแลนใหญ่นั้น มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 12,000 เท่าของระยะห่างระหว่างโลกถึงดวงอาทิตย์ หรือใหญ่กว่าจานฝุ่นก๊าซที่ล้อมรอบดวงอาทิตย์ ในช่วงที่ดวงอาทิตย์ก่อตัวขึ้นเมื่อราวๆ 4,500 ล้านปีก่อนประมาณ 10 เท่า.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่