เนบิวลาดาวขนาดใหญ่มีดวงดาวอายุน้อยๆ อุณหภูมิร้อนๆกำลังก่อตัวอยู่ ถือเป็นหมุดหมายที่นักดาราศาสตร์ให้ความสนใจศึกษาอย่างมาก อย่างเช่น เนบิวลานายพราน (Orion Nebula) คือหนึ่งในเนบิวลาขนาดยักษ์ที่เป็นที่ชื่นชอบในหมู่นักดูดาว เมื่อมองด้วยตาเปล่า จะเห็นเป็นหมอกควันสีเทาและเขียว เมื่อมองผ่านกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ก็ยิ่งเผยให้เห็นความรุ่งเรืองของการก่อเกิดดาวใหม่ๆ ซึ่งนักดาราศาสตร์พยายามไขความลับของสิ่งเหล่านี้มานานหลายสิบปี

ก่อนหน้านี้ นักดาราศาสตร์ได้พัฒนาแบบจำลองแสดงให้เห็นว่าดาวฤกษ์ร้อนที่อายุน้อยมักจะมาพร้อมกับจานฝุ่นก๊าซจากเนบิวลา จานฝุ่นนี้สามารถยุบตัวเพื่อก่อตัวเป็นดาวเคราะห์ได้ เพื่อให้เข้าใจทุกแง่มุมของการก่อตัวของระบบดาวเคราะห์ สิ่งสำคัญคือต้องศึกษาพวกมันในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย ซึ่งระบบดาวเคราะห์อายุน้อยหลายแห่งก่อตัวในบริเวณที่มีรังสีอัลตราไวโอเลตในระดับสูง โดยเฉพาะในบริเวณกำเนิดดวงดาวขนาดใหญ่ ซึ่งอีกหนึ่งเนบิวลาที่อยู่ในความสนใจก็คือ เนบิวลาล็อบสเตอร์ (Lobster Nebula) หรือ NGC 6357 คือตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมของการเป็นโรงเลี้ยงดูดวงดาวใหม่ๆ ตั้งอยู่ในกลุ่มดาวแมงป่อง ห่างไปประมาณ 6,000 ปีแสง

ทีมนักดาราศาสตร์นานาชาติเผยว่ากล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ได้สำรวจเข้าไปใน NGC 6357 พบว่าพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การตรวจสอบอย่างละเอียดนั้นมีดาวโอบี (OB star) คือดาวฤกษ์ที่มีมวลมากและร้อนจัด มากมายหลายดวง ในจำนวนนั้นเป็นดาวฤกษ์ที่มีมวลมากที่สุดในกาแล็กซีด้วย ทั้งนี้ ยังพบว่ามีน้ำและโมเลกุลอื่นๆ อยู่ในบริเวณชั้นในของจานฝุ่นก๊าซที่อาจก่อตัวดาวเคราะห์ด้วย.

(Credit : ALMA)

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่

...