เอนไซม์เป็นโปรตีนที่กระตุ้นปฏิกิริยาทางชีวภาพ นักวิทยาศาสตร์จึงมองว่าหากรู้การทำงานของเอนไซม์แต่ละตัวได้จะสำคัญ ต่อการทำความเข้าใจปฏิกิริยาเคมีต่างๆ ในสิ่งมีชีวิต ทำให้เกิดความพยายามพัฒนาวิธีการเรียนรู้เชิงลึกเพื่อวิเคราะห์คุณลักษณะของลำดับทางชีววิทยา เช่น ทำนายหน้าที่การทำงานของโปรตีน และเอนไซม์ โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (Artificial Intelligence) แต่เอไอที่มีอยู่ก็ไม่อาจตีความกระบวนการในระดับที่ละเอียดได้ เช่น ระดับของกรดอะมิโนที่ตกค้างในลำดับของเอนไซม์
ทว่าเมื่อเร็วๆนี้ ทีมวิจัยนำโดยภาควิชาวิศวกรรมเคมีและชีวโมเลกุลจากสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงแห่งเกาหลีใต้ และภาควิชาวิศวกรรมชีวภาพจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก สหรัฐอเมริกา ได้พัฒนาเอไอ DeepECtransformer ที่ทำนายการทำงานของเอนไซม์จากลำดับโปรตีนได้ ทีมยังจัดทำระบบคาดการณ์โดยใช้เอไอระบุการทำงานของเอนไซม์ได้รวดเร็วและแม่นยำ ทีมอธิบายว่า การใช้เอไอ DeepECtransformer มาระบุเอนไซม์ที่ไม่รู้จักในสิ่งมีชีวิตจะช่วยวิเคราะห์แง่มุมต่างๆในกระบวนการทางเคมีที่ช่วยให้ร่างกายทำงานได้ตามปกติหรือสามารถรักษาภาวะต่างๆภายในร่างกายให้คงที่ได้อย่างแม่นยำมากขึ้น
ในอนาคตอาจใช้เอไอประเภทนี้ไปพัฒนาจุลินทรีย์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้แบบจำลองปฏิกิริยาเคมีภายในเซลล์ที่เปลี่ยนอาหารไปเป็นพลังงานในระดับจีโนมหรือข้อมูลทางพันธุกรรมทั้งหมดในแบบที่ครอบคลุม ซึ่งอาจช่วยลดข้อมูลที่ขาดหายไปของกระบวนการทางเคมีที่ช่วยให้ร่างกายทำงานได้ตามปกตินั่นเอง.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่