เครื่องบินโดยสารสายการบินเวอร์จินแอตแลนติก ซึ่งขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน 100% จะทำการบินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเป็นครั้งแรก

เครื่องบินโดยสารของสายการบินเวอร์จินแอตแลนติก ที่บินจากท่าอากาศยานฮีทโธรว์ ในกรุงลอนดอน ไปยังท่าอากาศยานนานาชาติเจเอฟเค ในนครนิวยอร์ก ซึ่งขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (เอสเอเอฟ) 100% จะเริ่มออกเดินทางในวันนี้ (28 พ.ย.) ในขณะที่อุตสาหกรรมการบินพยายามที่จะแสดงศักยภาพของเชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม

เครื่องบินโบอิง 787 ซึ่งขับเคลื่อนโดยเครื่องยนต์โรลส์รอยซ์ เทรนต์ 1000 ของสายการบินเวอร์จินแอตแลนติก ถือเป็นเที่ยวบินแรกของสายการบินพาณิชย์ที่บินระยะไกลด้วยการใช้เชื้อเพลิงเอสเอเอฟ 100% การเดินทางในครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากความสำเร็จในการข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก ของเครื่องบินเจ็ต กัลฟ์สตรีม จี600 ที่บินโดยใช้เชื้อเพลิงเดียวกันนี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ริชาร์ด แบรนสัน มหาเศรษฐีชาวอังกฤษ ผู้ก่อตั้งเวอร์จินแอตแลนติก, ชาย ไวส์ ผู้บริหารระดับสูงของสายการบิน และ มาร์ค ฮาร์เปอร์ รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมของอังกฤษ จะร่วมเดินทางในเที่ยวบินที่มีกำหนดออกจากท่าอากาศยานฮีทโธรว์ ในเวลา 11.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นของอังกฤษ และเดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติเจเอฟเค ในเวลา 14.40 น. ตามเวลาท้องถิ่น

เชื้อเพลิงเอสเอเอฟ ถูกนำมาใช้ในเครื่องยนต์ไอพ่นแล้ว โดยเป็นส่วนหนึ่งของการผสมกับน้ำมันก๊าดแบบดั้งเดิม แต่หลังจากการทดสอบภาคพื้นดินประสบความสำเร็จ เวอร์จินแอตแลนติกและพันธมิตรอย่างโรลส์รอยซ์, โบอิง, บีพี และบริษัทอื่นๆ ได้รับอนุญาตให้บินโดยใช้เชื้อเพลิงเอสเอเอฟ

อุตสาหกรรมการบิน ปล่อยก๊าซคาร์บอนคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 2-3% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลก เชื้อเพลิงเอสเอเอฟจึงถือเป็นกุญแจสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่มีค่าใช้จ่ายสูงและคิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 0.1% ของเชื้อเพลิงอากาศยานทั่วโลกที่ใช้ในปัจจุบัน

...

เวอร์จินแอตแลนติกกล่าวว่า เชื้อเพลิงที่ใช้ในการบินในวันนี้ส่วนใหญ่ ทำจากน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วและไขมันสัตว์เหลือใช้ ผสมกับน้ำมันก๊าดสังเคราะห์จำนวนเล็กน้อยที่ทำจากข้าวโพดเหลือทิ้ง 

สายการบินในยุโรปหลายแห่ง รวมถึงเวอร์จินแอตแลนติก, กลุ่มไอเอจี เจ้าของสายการบินบริทิช แอร์เวย์ และแอร์ฟรานซ์ ได้กล่าวว่า พวกเขาต้องการใช้เชื้อเพลิงเอสเอเอฟ เป็นสัดส่วน 10% ภายในปี 2573 และเป้าหมายของอุตสาหกรรมในการปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 โดยสัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 65%

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายปี 2573 ดูท้าทายเมื่อพิจารณาจากปริมาณเชื้อเพลิงเอสเอเอฟที่ยังมีน้อย และต้นทุนที่สูง ซึ่งปัจจุบันราคาสูงกว่าเชื้อเพลิงเครื่องบินทั่วไปประมาณ 3-5 เท่า

ในเดือนตุลาคม ผู้บริหารของไอเอจีเตือนว่า มีความเสี่ยงมากกว่า 90% ที่อุตสาหกรรมการบินจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายของสหภาพยุโรป ในการนำเชื้อเพลิงเอสเอเอฟมาใช้ภายในปี 2568

ด้านกลุ่มผู้สนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อม Stay Grounded เรียกเที่ยวบินนี้ว่า "สิ่งที่ทำให้ไขว้เขวจากการฟอกเขียว" โดยกล่าวว่า "สารทดแทนเชื้อเพลิง ไม่สามารถปรับใช้ได้ในกรอบเวลาที่จำเป็น เพื่อหลีกเลี่ยงการล่มสลายของสภาพภูมิอากาศ สิ่งที่จำเป็นเร่งด่วนคือการลดการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลของเครื่องบินไอพ่น ซึ่งหมายถึงการลดเที่ยวบินในทุกที่ที่เป็นไปได้" 

อุตสาหกรรมการบินหวังว่าเที่ยวบินของเวอร์จินแอตแลนติกจะเน้นย้ำให้รัฐบาลเห็นถึงความจำเป็นในการให้การสนับสนุนทางการเงินเพื่อให้เชื้อเพลิงเอสเอเอฟพร้อมใช้งานมากขึ้น.

ติดตามข่าวต่างประเทศเพิ่มเติมที่ https://www.thairath.co.th/news/foreign