สัญญาณชีวภาพ เช่น อัตราการเต้นของหัวใจและการทำงานของกล้ามเนื้อ ให้ข้อมูลเชิงลึกที่มีคุณค่าเกี่ยวกับการทำงานของร่างกายมนุษย์ การตรวจสอบสัญญาณเหล่านี้จะช่วยตรวจจับความผิดปกติ ติดตามระดับการออกกำลังกาย ช่วยในการวินิจฉัยและการรักษาโรคต่างๆได้ ปัจจุบันมีอุปกรณ์สวมใส่ที่จำหน่ายในรูปแบบต่างๆ เช่น อุปกรณ์เสริมและแผ่นแปะ มีบทบาทสำคัญในการตรวจจับสัญญาณทางกายภาพ เคมี การตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ เป็นต้น

ล่าสุดทีมวิจัยที่นำโดยผู้เชี่ยวชาญภาควิชาวัสดุศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโพฮัง ในเกาหลีใต้ (POSTECH) เผยได้พัฒนาเซ็นเซอร์แบบสวมใส่ ประกอบด้วยฟิล์มบางและยืดหยุ่น ฝังไว้ด้วยเส้นลวดนาโนทองคำ เมื่อวางเซ็นเซอร์บนผิวหนัง สายลวดนาโนจะสัมผัสกับสัญญาณไฟฟ้าในร่างกาย สัญญาณเหล่านี้จะถูกส่งผ่านสายลวดนาโน ทำให้เซ็นเซอร์วัดสัญญาณชีวภาพได้ ทีมวิจัยอธิบายว่า ลวดนาโนทองคำมีคุณสมบัติพิเศษที่ทำให้เหมาะสำหรับการใช้งานเซ็นเซอร์ เพราะมีความนำไฟฟ้าสูง ยืดหยุ่น และเข้ากันได้ทางชีวภาพ จึงเหมาะที่จะใช้ในอุปกรณ์ที่สวมใส่ได้ โดยทีมวิจัยใช้คุณสมบัติเหล่านี้มาพัฒนาเซ็นเซอร์ที่วัดได้ทั้งอัตราการเต้นของหัวใจ และการทำงานของกล้ามเนื้อไปพร้อมๆกัน

เซ็นเซอร์ดังกล่าวยังสามารถรวมเข้ากับเสื้อผ้าอัจฉริยะหรืออุปกรณ์เสริมได้ ช่วยให้ตรวจสอบได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์เพิ่ม นับเป็นความก้าวหน้าในการเปิดโอกาสใหม่ๆ เพื่อติดตามและทำความเข้าใจสุขภาพของมนุษย์ พร้อมกับการใช้งานที่มีศักยภาพในด้านกีฬา และการดูแลสุขภาพ.

Credit : POSTECH

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่

...