ทั่วโลกยังให้ความสนใจ “สงครามในตะวันออกกลาง” ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา “อิสราเอลยังคงเดินหน้ากวาดล้างกองกำลังติดอาวุธฮามาสในกาซาซิตี้อย่างหนักหน่วง” ทำลายแหล่งซ่องสุมเครือข่ายอุโมงค์ใต้ดินโดยเฉพาะบริเวณรอบ รพ.อัล–ชิฟา ถูกระบุเป็นฐานบัญชาการสำคัญด้วย
กระทั่งอิสราเอลประกาศ “ปิดล้อมเมืองกาซาซิตี้สำเร็จ” ทำการตัดไฟฟ้า น้ำประปา และปิดกั้นความช่วยเหลือจากนานาชาติ ส่งผลให้ชาวปาเลสไตน์ต้องเผชิญวิกฤติด้านมนุษยธรรมอันเลวร้ายนับแต่ “กองทัพอิสราเอล” ยกระดับการโจมตีทางอากาศ และภาคพื้นดินเข้าไปในพื้นที่ทางเหนือมาตั้งแต่วันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมานั้น
ท่ามกลาง “องค์กรระหว่างประเทศ” เรียกร้องให้อิสราเอลและกลุ่มฮามาสหยุดยิงเพื่อมนุษยธรรม และปล่อยตัวประกันนี้ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผอ.ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า
...
ความขัดแย้ง 2 ฝ่ายมีมาตั้งแต่ปี 2550 จากอิสราเอลปิดล้อมกาซาในปีถัดมาก็เกิดการสู้รบกันต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2553 2555 2557 และ 2564 ด้วยการยิงขีปนาวุธตอบโต้กัน กลายเป็นเหตุการณ์ที่ทั่วโลกรับทราบมาตลอด
กระทั่งวันที่ 7 ต.ค.2566 “กลุ่มฮามาสเปิดปฏิบัติการทางทหารเข้าไปยังดินแดนอิสราเอลเป็นครั้งแรก” จับประชาชนเป็นตัวประกัน และทำร้ายผู้บริสุทธิ์บาดเจ็บล้มตายมากมาย ทำให้อิสราเอลยอมรับการกระทำครั้งนี้ไม่ได้ เปิดฉากเดินหน้าโจมตีทางอากาศยังจุดเป้าหมายแหล่งกบดานของกลุ่มฮามาสอย่างหนักหน่วงต่อเนื่อง
ถึงแม้ว่า “กลุ่มประเทศอาหรับ” พยายามเข้ามาแทรกแซงเป็นกาวใจให้เกิดการเจรจาหาข้อยุติในความขัดแย้งนี้หลายครั้งก็ไม่เป็นผล “อิสราเอล” ยังยกระดับโจมตีขยายขอบเขตปฏิบัติการภาคพื้นดินเข้าไปทั่วกาซา
ประเด็นคือ “อิสราเอล–ฮามาสเดินมาถึงจุดแตกหัก” ด้วยที่ผ่านมา กาซาเผชิญการถูกปิดล้อมจากอิสราเอลมานาน “แถมจำกัดไฟฟ้า น้ำประปา และอาหาร” สร้างความทุกข์ทรมานให้คนปาเลสไตน์ 2.3 ล้านคน ต้องเจอวิกฤติด้านมนุษยธรรมรุนแรง แม้แต่สหประชาชาติก็เคยระบุเป็นการลงโทษเหมารวมผิดกฎหมายระหว่างประเทศ
สภาวะความกดดันนี้ “กลุ่มฮาสมาสต้องแหวกวงล้อมออกจากอิสราเอล” ทั้งต้องการเรียกร้องให้ประชาคมโลกหันมาสนใจ “ประเด็นปัญหาด้านมนุษยธรรมในกาซา” เพื่อให้ได้รับการแก้ไขอย่างถาวรด้วย
ขณะที่ “อิสราเอล” กลับมองฮามาสเป็นกลุ่มก่อการร้ายภัยคุกคามต้องจัดการสิ้นซากถอนรากถอนโคนจนนำมาสู่ “จุดแตกหักก่อสงครามสู้รบ” เป็นวิกฤติทำลายล้างมนุษยธรรมที่ยังไม่มีท่าทีจะหยุดยิงกันด้วยซ้ำ
แต่ว่าการสู้รบเข้าสู่เดือนที่ 2 เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีจาก “คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC)” ประชุมผ่านร่างมติเรียกร้องให้อิสราเอล และฮามาสหยุดยิงโดยด่วน เพื่อมนุษยธรรม และขยายการสร้างระเบียงมนุษยธรรมทั่วกาซา นับจากที่ไม่ผ่านการลงมติก่อนหน้านี้มาแล้ว 4 ครั้ง
สิ่งที่กังวลกันคือ “อิสราเอล” อาจไม่ปฏิบัติตามคำร้องขอจาก “UNSC” เหมือนดั่งที่เคยทำมาในอดีต กระทั่งเริ่มมีความหวังอีกทางจาก “ประเทศกาตาร์เข้ามาเป็นตัวกลาง” กาวใจประสานความร่วมมือก่อให้เกิดการหยุดยิงชั่วคราว ด้วยหลักเงื่อนไขของการแลกตัวประกันระหว่างอิสราเอล และฮามาสเข้ามาร่วมด้วย
เบื้องต้น “กลุ่มฮามาส” ยอมแลกตัวประกันชาวอิสราเอล 50 คน แลกกับเด็ก และผู้หญิงปาเลสไตน์ ถูกจับกุมคุมขังเป็นนักโทษการเมืองโดยไม่ตั้งข้อหา หรือบางคนถูกตั้งข้อหาแต่กลับต้องขึ้นศาลทหารแบบไม่เป็นธรรม
ยิ่งกว่านั้นก่อนหน้านี้มีรายงาน “องค์กรเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยธรรม” ที่เผยข้อมูลนักโทษชาวปาเลสไตน์ถูกทรมานระหว่างอยู่ในคุกอิสราเอล ทำให้กลุ่มฮามาสในฐานะผู้ปกครองดินแดนปาเลสไตน์ยอมรับไม่ได้
“ตอนนี้ต้องดูท่าทีของอิสราเอล แต่ด้วยแรงกดดันจากญาติผู้ถูกจับกุมเป็นตัวประกันออกมาประท้วงเรียกร้องต่อผู้นำให้เร่งช่วยเหลือตัวประกันอย่างต่อเนื่อง สิ่งนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทำให้อิสราเอลต้องยอมรับเงื่อนไข กลายเป็นสัญญาณเชิงบวกสู่การพักรบชั่วคราวให้เกิดการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในกาซาก็ได้” ดร.ศราวุฒิ ว่า
...
ถัดมาในส่วน “การช่วยเหลือตัวประกันคนไทย” เรื่องนี้กลุ่มฮามาสเคยออกแถลงการณ์ชัดเจนแล้วว่า “กลุ่มตัวประกันชาวต่างชาติไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งครั้งนี้” เมื่อเหตุการณ์สงบก็พร้อมจะปลดปล่อยตัวประกันทั้งหมด และคนไทย 25 คนจะเป็นกลุ่มแรก เพราะหากปล่อยช่วงการสู้รบอยู่นี้เกรงว่าจะเกิดอันตรายขึ้นได้
ดังนั้นคงต้องรอดู “ช่วงการหยุดยิงชั่วคราว” ที่อาจเกิดขึ้นในเร็วๆนี้จะเป็นช่วงการปล่อยตัวประกันต่างชาติบางส่วน แต่ในระหว่างนี้เองรัฐบาลไทยโดยเฉพาะ รมว.ต่างประเทศก็พยายามออกเดินทางไปเจรจาทางการทูตกับหลายชาติในตะวันออกกลาง เช่น กาตาร์ อิหร่าน เพื่อหาทางช่วยเหลือตัวประกันคนไทยอีกทางหนึ่งด้วย
และมีคำถามว่า “กาตาร์เป็นกาวใจอิสราเอล–ฮามาสได้จริงหรือไม่...?” ถ้าดูในช่วงเกิดวิกฤติสงครามอิสราเอล-ฮามาส ที่ผ่านมาหลังสิ้นสุดการสู้รบ “กาตาร์” มักนำความช่วยเหลือเข้าไปฟื้นฟูในกาซาอยู่เสมอ ส่งผลให้กลุ่มฮามาสเกรงใจอย่างมาก แล้วด้วยอิสราเอลจะประสานกลุ่มฮามาสให้ปล่อยตัวประกันโดยตรงก็ไม่ได้
...
ด้วยต้องคำนึงถึงการเมืองภายใน “กรณีทำข้อตกลงกับกลุ่มฮามาส” ต้องไม่ทำให้พลเมืองตัวเองรู้สึกว่าผู้นำอิสราเอลเป็นฝ่ายง้องอนก่อนทำให้ต้องพึ่งพา “กาตาร์” เป็นช่องทางพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการมาระยะหนึ่งแล้ว เพราะอิสราเอลรู้ดีว่าแม้ปราบกลุ่มฮามาสในกาซาหมดไปก็จะมีกลุ่มใหม่ลุกขึ้นมาต่อต้านเช่นเดิม
ตอกย้ำด้วยรายงาน “นักเขียนชาวอังกฤษ” วิเคราะห์กรณีอิสราเอลโจมตีกลุ่มฮามาสนั้นเป็นแผนเพื่อต้องการผลักดันคนปาเลสไตน์ในกาซาให้ออกไปลี้ภัยใน “ประเทศอียิปต์” เพราะเรื่องนี้สหรัฐอเมริกา และอิสราเอล เคยเจรจากับอียิปต์มาหลายปี “แต่ถูกปฏิเสธตลอด” เหตุนี้ทำให้ต้องเลือกใช้วิธีทางการทหารกดดันแทน
แล้วเรื่องนี้ก็ชัดเจนขึ้นเมื่อ “อิสราเอล” ผลักดันคนปาเลสไตน์จากตอนเหนือไปอยู่ตอนใต้ของกาซา แล้วประกาศเดินหน้าปฏิบัติการตอนใต้ทั้งภาคพื้นดิน และทางอากาศ เพื่อกดดันคนปาเลสไตน์ไม่ให้มีทางเลือกอื่น
ประเด็นคือ “ความขัดแย้งของอิสราเอล–ฮามาสบานปลายเป็นสงครามภูมิภาคได้หรือไม่” ถ้าติดตามการสู้รบจะเห็นสถานการณ์ยกระดับขึ้นเรื่อยๆ สังเกตจากกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ได้เผชิญหน้าปะทะกับกองทัพอิสราเอลมาต่อเนื่องแล้ว “กองกำลังติดอาวุธในซีเรีย อิรัก” ก็ปะทะกับทหารสหรัฐฯ ประจำการอยู่ที่แห่งนั้นเช่นกัน
...
ในส่วน “กลุ่มฮูซีย์” ก็ประกาศทำสงคราม และพร้อมโจมตีเรือของอิสราเอลในทะเลแดงด้วย สิ่งนี้กำลังสะท้อนให้เห็นชัดว่ายิ่งการสู้รบยืดเยื้อนานมากเท่าใด ย่อมทำให้สงครามขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น
ถามต่อว่า “สงครามนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกหรือไม่...?” ในความจริงแล้วภูมิภาคตะวันออกกลางมีจุดสำคัญคือ “อ่าวเปอร์เซีย” เป็นศูนย์กลางของน้ำมัน และมีเส้นทางเดินเรือขนส่งสินค้าไม่ว่าจะเป็นคลองสุเอซ ช่องแคบฮอร์มุซ และตราบใดที่สงครามยังไม่ขยายวงมาตรงจุดนี้ก็จะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจโลก
ยกเว้นสมมติว่า “กลุ่มฮูซีย์โจมตีเรือของอิสราเอลตามคำขู่จริงๆ” แน่นอนสถานการณ์ย่อมบานปลายส่งผลกระทบต่อ “การขนส่งน้ำมันหยุดชะงัก” อันจะเป็นปัจจัยให้ในตลาดโลกขาดแคลนตามมาก็ได้
สำหรับผลกระทบต่อ “ประเทศไทย” นอกจากแรงงานแล้วยังมีผู้ประกอบการบางส่วนไปทำธุรกิจในตะวันออกกลางมากพอสมควร และยังมีนักศึกษาเรียนอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นรัฐบาลไทยต้องเฝ้าดูการสู้รบระหว่าง อิสราเอล-ฮามาสอย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นข้อมูลประเมินความเสี่ยงในการรักษาผลประโยชน์ของไทยในตะวันออกกลาง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ควรวางตัวเป็นกลาง” เพราะด้วยไทยเคยให้การยอมรับการดำรงของรัฐปาเลสไตน์ในเวทีสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) ปี 2555 ทั้งต้องมีส่วนร่วมผลักดันการพูดคุยเจรจาสันติภาพระหว่าง 2 ฝ่าย และควรเข้าไปมีส่วนร่วมช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมตามความเหมาะสมก็จะเป็นที่ยอมรับของชาวมุสลิมอีกด้วย
นี่คือสถานการณ์สู้รบ “ระหว่างอิสราเอล–กลุ่มฮามาส” ที่นานาชาติต่างคาดหวังให้ 2 ฝ่ายเดินหน้าพูดคุยนำไปสู่ “การปล่อยตัวประกันพลเรือน” ลดความตึงเครียดความขัดแย้งฟื้นฟูสันติภาพต่อกัน.
คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม