กลายเป็นประเด็นที่ต้องถกเถียงกันต่อเนื่อง ในแวดวงสาธารณสุขต่างประเทศ เรื่องการเปลี่ยนจากบุหรี่มาเป็นบุหรี่ไฟฟ้า โดยหวังว่าจะช่วยลดปริมาณการสูบบุหรี่มวนของจริง

แต่ผลที่ตามมาคือจะทำเช่นไรในการควบคุมพฤติกรรมของเยาวชน อย่างในสหรัฐ อเมริกาที่ข้อมูลขององค์การอาหารและยาแห่งชาติ (FDA) ระบุชัดเจนว่า 1.ในบรรดากลุ่มเยาวชนวัยเรียนที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีถึง 1 ใน 4 ที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าทุกวัน 2.นักเรียนระดับมัธยมศึกษาประมาณ 1 ใน 10 ยอมรับว่าเพิ่งใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งตีเป็นตัวเลขกลมๆ ได้ว่าเยาวชน 2.8 ล้านคนในสหรัฐฯใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบอันตราย

ตามด้วย 3.บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบที่นิยมใช้กันมากที่สุด และบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้ง ได้รับความนิยมมากที่สุดในหมู่วัยรุ่น และ 4.นักเรียนที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้ากว่า 90% เลือกใช้ผลิตภัณฑ์แบบแต่งกลิ่น โดยมีรสผลไม้และลูกกวาดเป็นอันดับต้นๆ

อย่างไรก็ตาม เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายไบรอัน คิง ผู้อำนวยการศูนย์ยาสูบขององค์การอาหารและยาแห่งชาติสหรัฐฯ เปิดเผยว่าการสำรวจในปี 2566 ดำเนินการกับกลุ่มนักเรียนมากกว่า 22,000 คน ซึ่งกรอกแบบสอบถามทางออนไลน์ และพบว่าอัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มนักเรียนมัธยมปลายได้ลดลงจาก 14% ในปีที่แล้ว เหลือ 10% ในปีนี้ ขณะที่ตัวเลขการสูบบุหรี่กับซิการ์ก็ลดลงเช่นกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่ง

พร้อมมองว่างานนี้มาจากการที่ทางการเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขึ้น ราคาผลิตภัณฑ์ยาสูบ การจำกัดการจำหน่ายให้กับเยาวชนโดยการเพิ่มอายุขั้นต่ำเป็น 21 ปี ไปจนถึงความพยายามควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบผิดกฎหมายรุ่นต่างๆ หรือการควบคุมรสชาติของบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้ซ้ำยี่ห้อดังในสหรัฐฯ ให้เหลือเพียงรสเมนทอลกับรสยาสูบ ไม่ให้ขายรสชาติ ผลไม้หรือลูกกวาดซึ่งมักเป็นที่นิยมของวัยรุ่น

...

แต่แน่นอน ปัญหาก็ยังมีอีกล้านแปด เพราะระยะหลังได้มีบุหรี่ไฟฟ้าแบบ “ใช้แล้วทิ้ง” เข้ามาครองตลาดแทน คิดเป็นสัดส่วนเกินครึ่งหนึ่งของยอดขายบุหรี่ไฟฟ้าในสหรัฐฯ โดยที่ทางการยังไม่ได้เข้าควบคุม(ฝรั่งเศสคุมแล้ว) ทั้งยังมีผลิตภัณฑ์บางยี่ห้อซึ่งได้รับความนิยมจากวัยรุ่นในอัตราสูงถึง 56% ที่หลบเลี่ยงเจ้าหน้าที่ศุลกากรด้วยการเปลี่ยนชื่อแบรนด์ รวมถึงใช้วิธีอื่นๆเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับ.

ตุ๊ ปากเกร็ด

คลิกอ่านคอลัมน์ "หน้าต่างโลก" เพิ่มเติม