กลับจากร่วมประชุมเอเปกที่สหรัฐอเมริกานัยว่านายก รัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” จะมีความสุขกับความสำเร็จที่ได้โชว์ตัวกับบรรดาผู้นำประเทศต่างๆ
ยิ่ง “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐฯจะให้ความสนิทสนมคล้ายกับผู้ใหญ่เอ็นดูเด็กมิปานแล้ว “สี จิ้นผิง” ผู้นำจีนก็มีท่าทีไม่ต่างกัน
ว่าไปเมื่อผู้นำระดับอภิมหาอำนาจของโลกแสดงไมตรีอย่างนี้ ด้านหนึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีสำหรับประเทศเล็กๆอย่างไทย
แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องมองเช่นกันว่าไทยซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในทำเลทองของภูมิภาคนี้ ซึ่งรายล้อมไปด้วยชาติต่างๆในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งมีความสัมพันธ์กับ 2 ประเทศผู้ยิ่งใหญ่นี้
แตกต่างกันบางส่วนแนบแน่นกับจีนบางส่วนผูกพันกับสหรัฐฯ
แน่นอนว่าไทยซึ่งมีพื้นที่อยู่ในชัยภูมิที่เหมาะสมอันไม่ต่างไปจากศูนย์กลางของภูมิภาคนี้ ซึ่งมีประชากรรวมกันแล้ว
กว่า 500 ล้านคน ใครๆก็อยากร่วมเป็นสหาย เพราะได้ประโยชน์แทบทุกด้านไม่ว่าจะเป็นการค้าการลงทุน
หรือในเชิงยุทธ์ก็สามารถสร้างอิทธิพลแข่งกันได้
การประชุมเอเปกครั้งนี้ถือว่าเป็นเวทีที่มีความสำคัญไม่น้อย เพราะมีประเทศสมาชิกมาชุมนุมกันมาก
“โจ ไบเดน” ผู้นำสหรัฐฯในฐานะเจ้าภาพ
“สี จิ้นผิง” ผู้นำจีนก็มาด้วย
แค่ 2 ผู้นำประเทศนี้มาเจอกันโลกก็สั่นไหวแล้ว!
ด้านหนึ่งทำให้โลกที่ร้อนระอุไปด้วยไฟสงครามและความขัดแย้งคงเย็นลงบ้าง ในท่ามกลางการชิงไหวชิงพริบของทั้ง 2 ฝ่าย
แม้ว่าไม่ใช่สงครามที่ปะหมัดกันด้วยอาวุธ แต่ก็เป็นสงครามที่ว่ากันด้วยการค้าและความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ต่อสู้กันอย่างแหลมคม
...
แต่บรรยากาศการพบกันระหว่าง 2 ผู้นำนั้นค่อนข้างดีแม้ผู้นำสหรัฐฯพยายามตีขรมด้วยการให้สัมภาษณ์สื่อเรียกผู้นำจีนว่า “เผด็จการ” แต่ดูเหมือนฝ่ายจีนจะไม่ตอบโต้หรือแสดงอาการใดๆ เพราะคงไม่อยากให้เสียบรรยากาศ เพราะต้องการให้เป็นไปอย่างสร้างสรรค์มากกว่าตึงเครียด
ไม่รู้ว่านายกรัฐมนตรีของไทยจะมีมุมมองอย่างไร เพราะมุ่งมั่นด้านเศรษฐกิจการค้ามากกว่าประเด็นทางการเมือง
“โจ ไบเดน” นั้นแม้เคยพบกับผู้นำไทยในการประชุมสหประชาชาติที่นิวยอร์กก่อนหน้านี้ แต่คงไม่มีเวลาได้ทำความรู้จักกันมากนัก
การพบกันครั้งนี้จึงแสดงออกอย่างเต็มที่
เช่นกัน “สี จิ้นผิง” ที่น่าจะคุ้นเคยมากกว่า เพราะได้พบกันแล้วที่ประเทศจีนในการประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง
ว่ากันโดยรวมทั้งสหรัฐฯและจีนต่างก็ต้องการสร้างสัมพันธ์อันดีกับไทย เพราะโดยพื้นฐานมีความผูกพันกันมาอย่างยาวนาน
ยิ่งสถานการณ์และความเป็นไปของโลกในปัจจุบัน
ไทยมีความหมายต่อ 2 ประเทศอย่างที่สุด เพราะเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคนี้
การรักษาระยะห่างจึงมีความสำคัญยิ่ง
ไม่แปลกที่บริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯสนใจที่จะมาลงทุนในไทย ก็เป็นอีกก้าวหนึ่งที่สหรัฐฯกำลังรุกคืบเข้ามาอีกครั้ง
ทุกอย่างต้องมองกันหลายมุม ไม่ใช่คิดอย่างโดดๆ แบบแยกส่วน!
“สายล่อฟ้า”
คลิกอ่านคอลัมน์ "กล้าได้กล้าเสีย" เพิ่มเติม