รัฐนิวยอร์กยื่นฟ้องบริษัทเป๊ปซี่โค ข้อหาสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม จากขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ขณะที่โฆษกเป๊บซี่โคแจงบริษัทมีความโปร่งใสในการลดการใช้พลาสติกมาโดยตลอด

เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2566 สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน รัฐนิวยอร์กได้ยื่นฟ้องบริษัทเป๊ปซี่โค (PepsiCo) เมื่อวานนี้ (15 พ.ย.) โดยกล่าวหาว่าผู้ผลิตเครื่องดื่มและขนมขบเคี้ยวชั้นนำจากสหรัฐอเมริกาได้สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชน โดยการสร้างขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว นับเป็นหนึ่งในคดีแรกๆ ที่หน่วยงานส่วนท้องถิ่นของรัฐต่างๆ ในสหรัฐฯ มุ่งเป้าไปที่บรรดาผู้ผลิตพลาสติกรายใหญ่ของประเทศ

เลติเทีย เจมส์ อัยการรัฐนิวยอร์ก ระบุในข้อกล่าวหาว่า บริษัทเป๊ปซี่โค มีส่วนสร้างความเดือดร้อนรำคาญต่อสาธารณะ ผ่านการสร้างขยะพลาสติกจำนวนมาก และจากการสำรวจขยะทุกประเภทที่พบบริเวณริมแม่น้ำบัฟฟาโลเมื่อปีที่ผ่านมา พบว่าขยะพลาสติกที่พบมากที่สุด คือบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวที่ติดตราสัญลักษณ์ของเป๊ปซี่โค ซึ่งพบมากกว่า 17% ของขยะทั้งหมด

“จากขยะพลาสติกที่รวบรวมมาซึ่งสามารถระบุชื่อยี่ห้อได้ทั้งหมด 1,916 ชิ้น พบว่ามากกว่า 17% ผลิตโดยเป๊ปซี่โค รองลงมาคือขยะพลาสติกจากแมคโดนัลด์ และเฮอร์ชีส์” รายงานระบุ

อัยการรัฐนิวยอร์กยังกล่าวอีกว่า เป๊ปซี่โคล้มเหลวในการเตือนผู้บริโภคเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากพลาสติกในสินค้าแบรนด์ต่างๆ ของบริษัทมากกว่า 100 แบรนด์ และทำให้สาธารณชนเข้าใจผิดเกี่ยวกับความพยายามในการต่อสู้กับมลพิษจากพลาสติก

นอกจากนี้ คำฟ้องร้องยังอ้างว่าได้ตรวจพบไมโครพลาสติกในแหล่งน้ำดื่มบริเวณโดยรอบแม่น้ำบัฟฟาโล ซึ่ง “อาจทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ ตั้งแต่ความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ไปจนถึงการอักเสบของลำไส้ และผลกระทบต่อระบบประสาท”

...

ด้านโฆษกของเป๊ปซี่โค กล่าวชี้แจงว่า บริษัทมีความโปร่งใสในการดำเนินนโยบายเพื่อลดการใช้พลาสติก พร้อมยืนยันในแถลงการณ์ว่า บริษัทมีความจริงจังกับการลดการใช้พลาสติกและการรีไซเคิลอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ขณะเดียวกัน เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่ซับซ้อน และต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วน อาทิ ภาคธุรกิจ หน่วยงานท้องถิ่น ผู้ให้บริการลดขยะ ผู้นำชุมชน และผู้บริโภค

เป๊ปซี่โค ซึ่งเป็นบริษัทผลิตอาหารและเครื่องดื่มที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก พร้อมกับบริษัทขนาดใหญ่อื่นๆ จำนวนมากกำลังเผชิญกับการฟ้องร้องโดยหน่วยงานท้องถิ่นเกี่ยวกับผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม

โดยบริษัทเหล่านี้ ถูกกล่าวหาว่าได้ทำการฟอกเขียว (Greenwashing) หรือการทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดด้วยการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ให้เข้าใจว่าองค์กรมีภาพลักษณ์ว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และรับผิดชอบต่อสังคม 


ติดตามข่าวต่างประเทศได้ที่ : https://www.thairath.co.th/news/foreign

ที่มา : BBCReuters 

Cr.ภาพ: X/@NewYorkStateAG