ความสามารถในการแข่งขันของประเทศมีตัวชี้วัดหลายอย่าง หนึ่งในตัวชี้วัดของโลกปัจจุบันคือเรื่องของปัญญาประดิษฐ์ ความสำเร็จในการพัฒนาชาติบ้านเมืองในยุคนี้มาจากความรวดเร็วในการประมวลผล บางประเทศมีข้อมูลลอยล่องอยู่ในอากาศบานเบอะเยอะแยะ แต่ไม่มีศักยภาพในการประมวลผล ข้อมูลจึงขาดๆ แหว่งๆ นำไปใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้

ประกาศว่าจะเพิ่มพลังการประมวลผลรวมของประเทศให้ได้มากกว่าร้อยละ 50 ภายใน ค.ศ.2025 รัฐบาลจีนต้องจึงทุ่มให้กับนวัตกรรมซุปเปอร์คอมพิวติงและปัญญาประดิษฐ์ ประสงค์เพื่อยกระดับขีดความสามารถของประเทศให้ได้ใกล้เคียงกับสหรัฐฯ สิ้น ค.ศ.2022 อุตสาหกรรมเกี่ยวกับซุปเปอร์คอมพิวติงและปัญญาประดิษฐ์ของจีนจะมีมูลค่า 1.8 ล้านล้านหยวน (2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงสั่งไปที่กระทรวงอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ กระทรวงศึกษาธิการ และธนาคารกลาง ให้ 3 หน่วยงานทำยังไงก็ได้ ที่ให้จีนมีการประมวลผลสูงถึง 300 EFLOPS ภายใน ค.ศ.2025 (EFLOPS เป็นหน่วยของความเร็วของระบบคอมพิวเตอร์ที่ประมวลผล 1 พันล้านครั้งต่อวินาที)

ปัจจุบัน พลังการประมวลผลของสหรัฐฯเป็นอันดับ 1 จีนตามมาเป็นอันดับ 2 ค.ศ.2022 พลังการประมวลผลของจีนยังอยู่ที่ 180 EFLOPS ทว่าเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จีนประสบความสำเร็จโดยมีพลังการประมวลผลอยู่ที่ 197 EFLOPS อีกไม่กี่หน่วยก็จะเท่ากับสหรัฐฯ (สิ้นเดือนธันวาคม 2022 พลังการประมวลผลของสหรัฐฯอยู่ที่ 200 EFLOPS)

ปัญญาประดิษฐ์จะทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อมีพลังการประมวลผลสูง จีนตั้งเป้าที่จะเพิ่มสัดส่วนพลังการประมวลผลของปัญญาประดิษฐ์จากร้อยละ 25 ของพลังการประมวลผลโดยรวมใน ค.ศ.2022 ไปเป็นร้อยละ 35 ภายใน ค.ศ.2025 กุญแจสำคัญที่จะทำให้จีนเป็นผู้นำด้านปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอก็คือ ‘การเพิ่มพลังการประมวลผล’

...

จีนลงทุนอย่างมโหฬารในโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลและเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุน 1.พลังการประมวลผลของข้อมูล 2.การจัดเก็บข้อมูล และ 3.ความจุเครือข่ายในเศรษฐกิจดิจิทัล ถึงขนาดสร้างศูนย์กลางการประมวลผลแห่งชาติ 8 แห่ง+คลัสเตอร์ศูนย์ข้อมูลระดับชาติอีก 10 แห่ง เพื่อให้การเข้าถึงพลังการประมวลผลของจีนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้คนในบางประเทศยังทะเลาะกันเรื่องเงินดิจิทัลหมื่นบาท เรื่องมีดพกกระจกเงากระเป๋าหิ้ว ขณะที่คนจีน รัฐบาลจีน และนักวิชาการจีนโพสต์เรื่องความจุของการจัดเก็บข้อมูลของประเทศที่จะต้องทำให้ได้เกิน 1,800 เอ็กซาไบต์หรือ 1,000 ล้านกิกะไบต์ ให้ได้ภายใน ค.ศ.2025

ผู้คนในบางประเทศสนใจข่าวตำรวจไล่จับนายกเทศมนตรีที่เรียกรับเงินผู้ประมูลงาน แต่ในจีน ผู้คนสนใจข่าวการสร้างศูนย์ประมวลผลอัจฉริยะ 20 แห่ง ว่ารัฐบาลจะไปสร้างที่ไหนยังไง และจะขยายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลที่ดำเนินไปได้อย่างรวดเร็วได้อย่างไร

จีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ สิ่งที่รัฐบาลจีนกำลังทำคือการลงทุนในพลังการประมวลผล การลงทุนด้านนี้จะทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลเพิ่มขึ้นอีก 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (35 ล้านล้านบาท) ต่อปี พวกบริษัทโครงข่ายโทรคมนาคมของจีนต่างก็โม้ถึงแผนการลงทุนสร้างศูนย์คอมพิวเตอร์ขนาดยักษ์ ทุกบริษัทพูดถึงอนาคตอันยิ่งใหญ่ของจีน แม้แต่ไชน่าโมบายก็ยังออกมาแสดงแถลงวิสัยทัศน์เมื่อวันก่อนว่า ‘เราต้องการเห็นพลังการประมวลผลเป็นเรื่องธรรมดาและใช้งานง่ายเหมือนน้ำและไฟฟ้า’

รัฐบาลจีนเองก็เร่งปรับปรุงความเร็วและประสิทธิภาพของเครือข่ายการประมวลผล โดยพยายามลดเวลาแฝงในการส่งข้อมูลระหว่างสิ่งอำนวยความสะดวกด้านคอมพิวเตอร์หลักไม่ให้มากกว่า 5 มิลลิวินาที

ประเทศที่รัฐและผู้คนไม่สนใจการประมวลผล ต่อไปในอนาคต จะกลายเป็นประเทศวิ่งตามจีนและสหรัฐฯอยู่ห่างๆ ที่นับวันยิ่งห่างออกไป ห่างไปไกลจนไม่สามารถที่จะวิ่งให้ทันกันได้ อนาคต ประเทศพวกนี้จะกลายเป็นผู้ซื้อเทคโนโลยีของจีน ประชาชนคนทั้งประเทศทำงานได้เงินเท่าใด ก็จะต้องเอาไปซื้อสินค้าของจีนมาใช้.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com

คลิกอ่านคอลัมน์ "เปิดฟ้าส่องโลก" เพิ่มเติม