นักวิทย์ตะลึง หลังกล้องดักสัตว์ป่าในพื้นที่ป่าฝนอินโดนีเซีย สามารถบันทึกภาพของตัวกินมดหนามจะงอยปากยาว สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมยุคโบราณ ที่ถูกเข้าใจว่าน่าจะสูญพันธุ์ไปแล้ว

ถือเป็นข่าวดีของวงการวิทยาศาสตร์ เมื่อกล้องดักสัตว์ป่าของโครงการสำรวจป่าของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ในพื้นที่ป่าฝนอินโดนีเซีย สามารถบันทึกภาพของ "แอตเทนบะระ อิคิดนา" หรือตัวกินมดหนามจะงอยปากยาวแอตเทนบะระ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมยุคโบราณ ที่ถูกเข้าใจว่าน่าจะสูญพันธุ์ไปแล้ว ได้ 4 คลิป ความยาวคลิปละ 3 วินาที ซึ่งนับเป็นหลักฐานพิสูจน์ว่า สัตว์สายพันธุ์นี้ไม่ได้สูญพันธุ์อย่างที่วิตกกัน หลังจากที่ไม่มีบันทึกการพบสัตว์ตัวนี้มานานกว่า 60 ปีแล้ว โดยสัตว์หายากสายพันธุ์นี้ถูกตั้งชื่อตาม เซอร์ เดวิด แอตเทนบะระ นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ

ตัวกินมดหนามจะงอยปากยาวแอตเทนบะระ มีขนปุกปุย และมีหนามทั่วร่างกาย แถมยังมีจะงอยปากเหมือนนก โดยนับว่ามันเป็นสัตว์โบราณตั้งแต่ 200 ล้านปีก่อน ในยุคที่ไดโนเสาร์ยังมีชีวิตอยู่บนโลก

ดร.เจมส์ เคมป์ตัน ผู้นำทีมวิจัยลงสำรวจพื้นที่ในเทือกเขาไซคลอปส์ ซึ่งเป็นป่าฝนที่อยู่สูง 2,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลของอินโดนีเซีย เป็นเวลานาน 1 เดือน ระบุว่า วินาทีที่เขาได้เห็น แอตเทนบะระ อิคิดนา ผ่านวิดีโอดักสัตว์ เขาตะโกนบอกเพื่อนร่วมทีมด้วยความดีใจ ว่าเราพบมันแล้ว และมันยังมีอยู่ โดยเขาได้ไล่เปิดดูการ์ดข้อมูลจากกล้องทั้งหมดจนมาถึงแผ่นสุดท้าย จากกล้องตัวสุดท้ายที่เก็บกลับมา ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการสำรวจด้วย โดยนอกจากการค้นพบตัวกินมดหนามที่สูญหายแล้ว ทีมสำรวจยังได้ค้นพบแมลง และกบสายพันธุ์ใหม่ๆ อีกหลายสายพันธุ์ และคาดว่ายังมีสิ่งมีชีวิตอีกมากที่ยังรอการสำรวจในพื้นที่เทือกเขาศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวท้องถิ่นต่างร่วมกันดูแลเป็นอย่างดี.

...

คลิกอ่านข่าวต่างประเทศไทยรัฐออนไลน์ ที่นี่